กรมชลฯ วางแผนพัฒนาโครงการชลประทานกว่าหมื่นโครงการ เพิ่มปริมาณน้ำ 2 ล้านลบ.ม.

ข่าวทั่วไป Thursday June 12, 2014 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการศึกษาพบว่า พื้นที่การเกษตรของไทยทั้ง 131 ล้านไร่นั้น เป็นพื้นที่ที่สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 60 ล้านไร่ โดยในส่วนนี้ได้พัฒนาไปแล้ว 29 ล้านไร่ เหลืออีก 31 ล้านไร่ ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ชลประทาน 1 ไร่นั้น จะต้องมีน้ำต้นทุน 1,000 ลูกบาศก์เมตร จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนอีกประมาณ 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ เท่ากับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เท่าเขื่อนภูมิพล 3 แห่งถึงจะสามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้ตามเป้าหมายดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงอาจจะไม่จำเป็นจะต้องสร้างแหล่งกักเก็บน้ำได้ให้ 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ได้เพราะสามารถใช้โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า โครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำนานาชาติ มาใช้ในการขยายพื้นที่ชลประทานได้ ซึ่งภายใต้แผนพัฒนาการชลประทานในระดับลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ (กรอบน้ำ 60 ล้านไร่) นั้น ได้วางแผนที่จะพัฒนาสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ประมาณ 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตรก็เพียงพอที่จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 60 ล้านไร่

สำหรับโครงการตามกรอบน้ำ 60 ล้านไร่ จะแบ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ 109 แห่ง มีปริมาณการเก็บกัก 7,988 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้พื้นที่เกษตรกรในเขตชลประทาน 18.6 ล้านไร่ โครงการชลประทานขนาดกลาง 1,033 แห่ง มีปริมาณการเก็บกัก 6,614 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้พื้นที่เกษตรกรในเขตชลประทาน 7.1 ล้านไร่ โครงการชลประทานขนาดเล็ก 6,663 แห่ง มีปริมาณการเก็บกัก 954 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้พื้นที่เกษตรกรในเขตชลประทาน 1.9 ล้านไร่ โครงการชลประทานสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 1,717 แห่ง ได้พื้นที่เกษตรกรในเขตชลประทาน 3.6 ล้านไร่ และโครงการแก้มลิง 1,534 แห่ง มีปริมาณการเก็บกัก 3,980 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมโครงการชลประทานทั้งหมดตามกรอบน้ำดังกล่าว จะมีทั้งหมดประมาณ 11,051 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำได้ 19,353 ล้านลูกบาศก์เมตร ขยายพื้นที่ชลประทานได้อีก 31.3 ล้านไร่ เมื่อรวมกับพื้นที่ชลประทานปัจจุบันที่มีอยู่ 29 ล้านไร่ ก็จะครบ 60 ล้านไร่พอดี ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในเรื่องน้ำ

ทั้งนี้ ปัญหาขาดแคลนน้ำอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพราะจำนวนผู้ใช้น้ำในทุกภาคส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากประชากรในพื้นที่นอกเขตชลประทานได้อพยพเข้ามาอยู่ในเขตชลประทาน เนื่องจากไม่มีความมั่นคงเรื่องน้ำในพื้นที่เดิม ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่ชลประทานจึงเป็นการสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำ และสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้นั้นจำเป็นจะต้องเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน และวิธีที่ดีและมีประสิทธิภาพสูงสุดในการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนคือ การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง

"เมื่อประเทศไทยมีความมั่นคงในเรื่องน้ำแล้ว ผลดีต่อเนื่องจะตามมามากมาย ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งก็จะบรรเทา ผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวก็จะเพิ่มขึ้น ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยวก็จะมีน้ำใช้อย่างพอเพียง และที่สำคัญปัญหาในเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์วิทยา จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน" นายเลิศวิโรจน์กล่าว

ด้านว่าที่ร้อยตรี ไพเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อขยายพื้นที่ชลประทานให้ได้ 60 ล้านไร่ว่า จะต้องใช้ระยะเวลา แต่ในระยะสั้น-ระยะกลาง ระหว่างปี 2558-2561 กรมชลประทานมีความพร้อมที่จะดำเนินการก่อสร้างแล้วประมาณ 357 โครงการ เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ประมาณ 9 โครงการ ขนาดกลางประมาณ 348 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จจะเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,043 ล้านลูกบาศกฺ์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 2.0 ล้านไร่

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่กำหนดดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวม 25 โครงการเป็น 6 ประเภทคือ 1.โครงการที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านการพิจารณาแล้ว 3 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 21.8 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 64,990 ไร่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประตูระบายน้ำ (ปตร.) คลองประ จ.พัทลุง และอ่างฯห้วยพังงา จ.อุตรดิตถ์

2.โครงการที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อยู่ระหว่างการกพิจารณาและปรับปรุง จำนวน 8 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 376.22 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 360,414 ไร่ ได้แก่ อ่างฯคลองพร้าว จ.ตราด อ่างฯวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช อ่างฯห้วยรู จ.พะเยา เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ อ่างฯแม่ถันน้อย จ.สุโขทัย โครงการโขง-เลย-ชี-มูล อ่างฯแม่ก๋อน จ.แพร่ และอ่างฯน้ำปี้ จ.พะเยา

3.โครงการที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อยู่ระหว่างรอเข้าสู่วาระการพิจารณา จำนวน 2 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 41.74 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 34,000 ไร่ ได้แก่ อ่างฯหนองตาตั้ง จ.ราชบุรี และอ่างฯคลองเคียนงาม จ.ระนอง

4.โครงการที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เตรียมเสนอกรมชลประทานเพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา จำนวน 2 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 56.3 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 29,000ไร่ ได้แก่ อ่างฯน้ำญวน จ.พะเยา และอ่างฯคลองขลุง จ.กำแพงเพชร

5.โครงการที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำรายงาน จำนวน 4 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 119.7 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 18,370 ไร่ ได้แก่ อ่างฯห้วยสะตอ จ.ตราด อ่างฯห้วยตาเปอะ จ.มุกดาหาร อ่างฯแซร์ออ และอ่างฯห้วยสะโตน จ.สระแก้ว

6.โครงการที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในแผนงานการศึกษาสิ่งแวดล้อมปีงบประมาณ 2557-2558 จำนวน 26 โครงการ มีโครงการที่สำคัญๆ เช่น อ่างฯแม่นึง จ.ลำปาง อ่างฯน้ำกิ จ.น่าน โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย-ภัยแล้ง ลุ่มน้ำมูลตอนบน อ่างฯคลองใหญ่ จ.พัทลุง โครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์-ลุ่มน้ำสะแกกรังและลุ่มน้ำท่าจีน โครงการบริหารจัดการน้ำในลำน้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล โครงการพัฒนาระบบชลประทานพื้นที่ท้ายเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ