ครม.เห็นชอบงดส่งน้ำปลูกข้าวนาปรังใน 26 จว. พร้อมมาตรการเยียวยา

ข่าวทั่วไป Tuesday October 14, 2014 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทีป่ระชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยรับทราบสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำอื่น ๆ และเห็นชอบการงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง โดยให้มีการออกประกาศทางราชการแจ้งพื้นที่ที่ให้งดการส่งน้ำและงดการทำนาปรังในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ รวม 26 จังหวัด

ทั้งนี้ การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยในพื้นที่งดส่งน้ำและงดทำนาปรังให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556

"ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบงดส่งน้ำเพื่อปลูกข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ใน 26 จังหวัด พร้อมกำหนดมาตรการช่วยเหลือ เนื่องจากคาดว่าปริมาณน้ำใน 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก หลังต้องสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูฝนปี 58 และสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคแล้ว" รองโฆษกฯ กล่าว

กระทรงเกษตรฯ รายงานว่า ในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 6.8 ล้านไร่ ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง คิดเป็น 0.97 ล้านไร่ รวมพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังทั้งสิ้น 7.77 ล้านไร่ คิดเป็นเกษตรกร จำนวน 2.6 แสนครัวเรือน

ส่วนในลุ่มน้ำอื่นๆ ปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์พอดี

พร้อมกันนั้น ยังเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/2558 ดังนี้ เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองจะไม่ได้รับการช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติด้านการเกาตร, เกษตรกรทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานได้รับมาตรการช่วยเหลือเหมือนกัน มาตรการหลัก โดยกรมชลประทานดำเนินการจ้างแรงงานเพื่อซ่อมคูคลองในฤดูแล้ง จำนวน 7.54 ล้านคนต่อวัน

ส่วนมาตรการเสริม จะดำเนินการโดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 และขอสนับสนุนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ 2558 ดังนี้ การอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านประมง 3,574 ราย แบ่งเป็นเรื่องการเลี้ยงปลา 2,702 ราย (รายละ 2,250 ราย) และกบ 872 ราย (รายละ 2,900 ราย) การอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ 13,389 ราย แบ่งเป็นเรื่องการเลี้ยงเป็ด 4,407 ราย (รายละ 4,000 บาท และไก่ 8,982 ราย (รายละ 4,000 บาท)

การฝึกอาชีพในภาคเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรฝึกอาชีพเกษตรกร จำนวน 17,804 ราย แบ่งเป็น 9 หลักสูตร ได้แก่ ปุ๋ยหมัก (รายละ 800 บาท) สารชีวินทรีย์ (รายละ 800 บาท) ถั่วงอก (รายละ 500 บาท) เพาะเห็ด (รายละ 800 บาท) ขยายพันธุ์ไม้ผล (รายละ 500 บาท) ผึ้ง (รายละ 2,950 บาท) แมลงเศรษฐกิจ (รายละ 1,200 บาทป ซ่อมเครื่องจักรกล (รายละ 3,000 บาท) และการแปรรูป/ถนอมอาหาร (รายละ 1,000 บาท)

การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วแก่เกษตรกรในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ จำนวน 150,000 ไร่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ถั่วเขียว หรือถั่วลิสง แก่เกษตรกรที่มีความประสงค์จะปลูกพืชตระกูลถั่ว การฝึกอาชีพนอกภาคเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จำนวน 1,385 ราย แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชย์และบริหาร ความคิดสร้างสรรค์ และเฉพาะทาง (รายละ 900 บาท) และ การสนับสนุนให้ปลูกพืชปุ๋ยสด ในพื้นที่พักนาที่มีความชื้นเพียงพอ 150,000 ไร่ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถเลือกมาตรการช่วยเหลือตามความสมัครใจ หากได้รับมาตรการหลักแล้ว สามารถเลือกมาตรการเสริมเพิ่มเติมได้ หรือจะไม่เลือกมาตรการหลัก ก็ยังมีสิทธิ์เลือกมาตรการเสริม โดยมาตรการเสริมเลือกได้เพียงมาตรการเดียวเพื่อกระจายการช่วยเหลือไปให้เกษตรกรรายอื่น ๆ อย่างเป็นธรรม ซึ่งการประชาสัมพันธ์และติดตาม กำกับ การขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการฯ ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมเกษตร

ด้านมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ประกอบด้วย การแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด สภาเกษตรกรแห่งชาติ รวมถึงกลไกระดับพื้นที่ อาทิ องค์กรผู้ใช้น้ำของแต่ละโครงการ การกำหนดแผนปฏิบัติการฝนหลวง การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำ การเร่งรัดขุดลอกคลองระบายน้ำการจัดทำแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ รวมถึงการเตรียมสำรองเมล็ดพันธุ์พืชและการสนับสนุนเสบียงสัตว์และเวชภัณฑ์ นอกจากนี้เห็นควรให้จังหวัดกำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก รณรงค์ให้งดเลี้ยงปลา ในกระชังเขตลุ่มน้ำปิงและน่าน ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำน้อยในช่วงเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2557/58 ที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ให้มีรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบจากภัยแล้งที่จะเกิดแก่เกษตรกร ทั้งนี้ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทันต่อฤดูเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2557/58 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึง 30 เมษายน 2558


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ