ครม.เห็นชอบแนวทางป้องกัน-ควบคุมอีโบล่าระบาด ส่งทีมแพทย์ไปช่วยในแอฟริกา

ข่าวทั่วไป Tuesday October 14, 2014 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธาณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ในเรื่องแนวทางการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาทุกภาคส่วน พร้อมกับเห็นชอบให้ใช้งบกลางในการจัดส่งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไปให้ความช่วยเหลือในแอฟริกาตะวันตก โดยให้ สธ.เป็นผู้ดำเนินการหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้จัดความช่วยเหลือของประเทศไทยด้านเงินช่วยเหลือวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น และด้านมนุษยธรรมอื่นๆ โดยระดมความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ โดย สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำแนวทางการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาทุกภาคส่วนใน 3 สถานการณ์ คือ สถานการณ์ที่ 1 : ยังไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศไทย รวมถึงพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลาเดินทางมาจากต่างประเทศ สถานการณ์ที่ 2 : กรณีพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศไทยแต่ยังไม่พบการแพร่กระจายเชื้อในประเทศ และสถานการณ์ที่ 3 : กรณีพบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศไทย

ส่วนการให้ความช่วยเหลือนั้น ประเทศไทยโดยรัฐบาลควรแสดงบทบาทร่วมกับนานาชาติ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่กำลังประสบปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เพื่อเร่งควบคุมการระบาด ณ แหล่งต้นตอซึ่งนับเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมที่สุด ในการยุติโรคติดต่อรุนแรงซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในเวทีโลก ในโอกาสที่โลกกำลังประสบภาวะวิกฤติ จึงเห็นควรให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ดังนี้

1. เงินช่วยเหลือเพื่อสมทบในกรอบที่องค์การสหประชาชาติประมาณการไว้ โดยขอรับการสนับสนุนจากงบกลางของรัฐบาลตามความเหมาะสมและจัดการระดมเงินบริจาคเพิ่มเติมภายในประเทศผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น รัฐบาล สภากาชาดไทย ภาคเอกชน

2. สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ผลิตได้ในประเทศ เช่น อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย น้ำยาฆ่าเชื้อโรค วัสดุวิทยาศาสตร์สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

3. การสนับสนุนด้านนโยบายทางการเมือง เช่น นโยบายการต่อสู้กับการระบาดของโรค สนับสนุนการยกเลิกมาตรการห้ามการเดินทางและการค้าระหว่างประเทศ

4. ความช่วยเหลือด้านคมนาคมขนส่งทางอากาศ ทั้งการขนส่งสิ่งของและผู้โดยสาร

5. จัดส่งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งบุคลากรสาขาอื่นๆ ในขั้นต้น ตั้งเป้าที่จะจัดหาชุดละจำนวน 35 คน โดยส่งไปร่วมปฏิบัติงานในประเทศใกล้เคียงกับประเทศที่มีการระบาด เพื่อร่วมจัดการฝึกอบรมหรือประสานงานเตรียมความพร้อมแก่บุคลากรของประเทศเหล่านี้เพื่อรับมือการระบาด หรือร่วมปฏิบัติงานในศูนย์ประสานความช่วยเหลือของสหประชาชาติ หรือเห็นควรส่งไปปฏิบัติงานในประเทศที่มีการระบาดคือ สาธารณรัฐกินี สาธารณรัฐไลบีเรีย และสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน โดยมีเวลาปฏิบัติงานชุดละ 1 เดือน จำนวน 3 ชุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ