สรุปยอดเสียชีวิตจากอุบัติเหตุช่วง7วันอันตราย รวม2วันตาย128 เจ็บ1,158ราย

ข่าวทั่วไป Thursday January 1, 2015 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธ.ค.57 เกิดอุบัติเหตุ 625 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 70 ราย ผู้บาดเจ็บ 641 คน รวม 2 วัน (30 – 31 ธ.ค. 57) เกิดอุบัติเหตุ รวม 1,133 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 128 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,158 คน

นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุมประพฤติ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “มอบความสุขทั่วไทย สัญจรปีใหม่ ปลอดภัยทุกคน" เกิดอุบัติเหตุ 625 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 70 ราย ผู้บาดเจ็บ 641 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 41.92 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 26.40 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.80 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 63.04 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.96 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 34.56

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 2 วัน (วันที่ 30 - 31 ธันวาคม 2557) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,133 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 128 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,158 คน จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ (อุบัติเหตุเป็นศูนย์) มี 2 จังหวัด ได้แก่ พังงา ระยอง จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 23 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 2 วัน มี 6 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ 49 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เพชรบูรณ์ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ (จังหวัดละ 7 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 52 คน

จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 2 วันที่ผ่านมา พบว่า การเมาแล้วขับ ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 39.54 ศปถ.จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการควบคุมการจำหน่าย การเข้าถึงและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงให้จุดตรวจ จุดสกัดในเส้นทางสายต่างๆ เข้มงวดกวดขันผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับ โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงโทษผู้กระทำผิดกรณีเมาแล้วขับ โดยให้กักขังแทนการจ่ายค่าปรับ เพื่อป้องปรามการกระทำผิด

ส่วนกรณีเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี กระทำผิดจากการดื่มแล้วขับ ให้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด พร้อมให้ตรวจสอบสถานที่ ผู้จำหน่าย และผู้จัดงาน ที่อนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เยาวชน เพื่อพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ