หน่วยงานรัฐยันพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ เตือนเกษตรกรงดทำนาปรัง

ข่าวทั่วไป Thursday February 5, 2015 13:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้สำรวจและประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้วใน 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ลพบุรี มหาสารคาม นครสวรรค์ สุโขทัย สกลนคร และบุรีรัมย์ ซึ่งกระทรวงฯ ได้เตรียมการโดยสนับสนุนงบประมาณส่งเสริมการจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็ก การทำโครงการแก้มลิง จัดงบประมาณการพัฒนาแหล่งน้ำ จัดสรรงบขุดลอกคูคลองจำนวน 1,400 ล้านบาท

ขณะเดียวกันได้สำรวจตรวจสอบอุปกรณ์ในการช่วยเหลือประชาชน การจัดการส่วนราชการต่างๆ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำ ซึ่ง รมว.มหาดไทยได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประชาสัมพันธ์การจัดการน้ำให้ดี และชี้แจงให้ประชาชนรับทราบ รวมถึงให้ประชาชนแจ้งปัญหาความเดือดร้อนผ่านศูนย์ดำรงธรรม ขณะเดียวกันทำความเข้าใจพื้นที่หมู่บ้านที่มีแหล่งน้ำขนาดเล็กให้บริหารอย่างมีเหตุผลดึงน้ำมาใช้อย่างถูกต้องเกิดประโยชน์ พร้อมกันนี้กระทรวงฯ ได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำใช้ดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในการแก้ปัญหาภัยแล้งในอนาคตที่ ประชาชนจะต้องมีส่วนบริหารจัดการด้วยตนเองอย่างมีเหตุผล

ด้านนายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้เตรียมมาตรการรับมือภัยแล้งโดยการจัดสรรและบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำแม่กลองให้มีน้ำเพียงพอ และมีการจัดสรรการปล่อยน้ำจากเขื่อนใหญ่ 10 เขื่อน เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น

พร้อมกันนี้ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรชาวนาลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งจากการเตรียมการลดการส่งน้ำตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา สามารถลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังได้ร้อยละ 50 คือ จากเดิมมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 12.16 ล้านไร่ เหลือเพียง 6.5 ล้านไร่

ทั้งนี้รัฐบาลได้มีการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ด้วยการเพิ่มการจ้างแรงงาน 32,562 คน และมีการส่งเสริมการทำอาชีพอื่นด้วยการให้พันธุ์พืชและพันธุ์ปลา และได้มีการอนุมัติโครงการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งสนับสนุนเงินทุนสหกรณ์การเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้กู้ยืมในวงเงิน 65 ล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้เตรียมมาตรการในเชิงป้องกันและประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมงตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร

ขณะที่นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของประเทศอยู่ในระดับเลวร้ายที่สุดในรอบ 15 ปี แต่ขณะนี้ได้มีการบริหารจัดการน้ำจนทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคจนถึงสิ้นฤดูแล้งนี้ เพราะกรมชลประทานได้มีการวางแผนจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งไว้แล้ว โดยเฉพาะน้ำในเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศ กรมชลประทานได้มีการเตรียมการดูปริมาณน้ำ เก็บกักไว้ใช้อุปโภค บริโภค รวมถึงรักษาระบบนิเวศ ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำแม่กลอง ก็ยังมีเพียงพอ รวมถึงจะไม่มีปัญหาน้ำเค็ม พร้อมย้ำว่าน้ำจะไม่เพียงพอต่อชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งพบว่ายังมีการลักลอบทำถึงแม้ว่าจะมีการประชาสัมพันธ์ไปแล้วก็ตาม ขณะที่สถานการณ์น้ำในภาคอีสานก็มีน้ำใช้เพียงพอจนถึงสิ้นฤดูแล้ง เช่นเดียวกับภาคตะวันออก ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรม และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ก็มีปริมาณน้ำเพียงพอในการใช้อุปโภค บริโภค ส่วนสถานการณ์น้ำเค็ม ทางกรมชลประทานได้มีการควบคุมไม่ให้เกินปริมาณที่กำหนดไว้ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากนัก

ส่วนนายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง และภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ของประเทศ จำนวน 31 จังหวัด ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินหรือภัยแล้งแล้วจำนวน 8 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 30 อำเภอ 200 ตำบล 2,091 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ภาคเหนือ จังหวัดสุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มหาสารคาม และสกลนคร ภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ และลพบุรี

ดังนั้นเพื่อการเตรียมพร้อมในการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาภัยแล้งดังกล่าว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ระดมกำลังทั้งด้านบุคลากร เครื่องจักร และอุปกรณ์ ในการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ประกอบด้วย ชุดเจาะน้ำบาดาล ชุดเป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล รถปรับปรุงคุณภาพน้ำ จุดจ่ายน้ำถาวร และระบบน้ำดื่มสะอาดในโรงเรียนทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีความพร้อมในการจ่ายน้ำสะอาดช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดพิบัติภัย 2,631 แห่ง

ทั้งนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 305 แห่ง เป็นการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อเชื่อมต่อระบบน้ำประปาเดิมที่แต่ละหมู่บ้านมีอยู่แล้ว เพื่อช่วยให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง รวมถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 323 แห่ง ช่วยให้นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียน รวมถึงบุคลากรในพื้นที่มีน้ำดื่มมาตรฐานองค์การอนามัยโลก และเป็นจุดให้บริการน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงที่เกิดพิบัติภัยธรรมชาติได้อีกด้วย ขณะเดียวกันได้ทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 693 แห่ง เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ให้มีแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชผักในการเลี้ยงชีพ และประกอบอาชีพ ช่วยให้คนในพื้นที่มีงานทำ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยบรรเทาปัญหาการละทิ้งถิ่นฐานไปหางานทำในเมืองใหญ่

ส่วนนายบุญจง จรัสดำรงนิตย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำอยู่ในภาวะปกติ และคาดว่า ภัยแล้งที่เข้ามาอยู่ในภาวะเกิดฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำมีการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งโครงการก่อสร้างแหล่งน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำในฤดูแล้งรวมทั้งสูบน้ำเพื่อเก็บน้ำในลำน้ำสายหลัก การเก็บกักน้ำ รวมทั้งมีการแจกจ่ายน้ำไปแล้วในพื้นที่ 12 จังหวัด มีประชาขนได้รับประโยชน์ 10,920 ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีการตั้งศูนย์อำนวยการติดตาม และแก้ปัญหาภัยแล้งทั้งในส่วนกลางและสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1-11 มีการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ อุปกรณ์ เครื่องมือ ชุดเครื่องสูบน้ำเครื่องที่ และบุคลากรให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ ยังมีแผนการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อสร้างจิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างประหยัด และรู้คุณค่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ