ศปถ.เผยสถิติอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายสูงกว่าปีก่อน เสียชีวิต 364 ราย

ข่าวทั่วไป Thursday April 16, 2015 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน(ศปถ.) สรุปสถิติอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2558 ในช่วง 7 วัน(9-15 เม.ย.58)ของการรณรงค์ "สติ วินัย น้ำใจ ปลอดภัยสงกรานต์ สืบสานประเพณี" เกิดอุบัติเหตุรวม 3,373 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 364 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,559 คน

นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุรวม 3,373 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 364 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,559 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 39.31 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.35 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.34 โดยมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 28.51 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.89 ถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 37.29 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.14 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01–20.00 น. ร้อยละ 30.50 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.58 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 141 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 16 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 152 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต(ตายเป็นศูนย์) จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ยะลา สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 7 วันของการรณรงค์ มี 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ

"การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2558 มีจำนวนครั้ง จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ขณะที่รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด โดยสาเหตุยังคงเกิดจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญทั้งการดื่มแล้วขับและการขับรถเร็ว รวมถึงการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุมีอัตราการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต" นายสุธี กล่าว

สำหรับวันที่ 15 เม.ย.58 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ฯ เกิดอุบัติเหตุ 458 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 58 ราย ผู้บาดเจ็บ 489 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 41.23 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 27.85 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.56 โดยมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 25.87 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.04 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 39.25 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 38.38 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 29.61 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 46.61 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 32 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เพชรบูรณ์ 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 34 คน

รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ศปถ.จะได้ถอดบทเรียนการลดอุบัติเหตุ โดยนำความสำเร็จของจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมาเป็นต้นแบบในการวางแนวทางและกำหนดทิศทางการสร้างความปลอดภัยทางถนน ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการควบคู่กับการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนที่ครอบคลุมทั้งผู้ใช้รถใช้ถนน สภาพรถ และเส้นทาง รวมถึงนำปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินงานมาปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญ เพื่อให้การขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนมีประสิทธิภาพในการลดความสูญเสียได้มากที่สุด นอกจากนี้จะได้มุ่งสร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนผ่านกลไกการสื่อสารสาธารณะทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างวินัยจราจรและวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย

ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับแล้ว ขณะที่บางส่วนยังเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณีในพื้นที่ จึงขอกำชับให้จังหวัดดังกล่าวระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนดูแลความปลอดภัยในการเล่นน้ำควบคู่กับการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน และอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของประชาชน สำหรับจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นให้คณะทำงานสืบสวนอุบัติเหตุของจังหวัดตรวจสอบหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและวางแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดสรุปและประเมินผลภาพรวมการดำเนินงานลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะได้นำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาคัดเลือกจังหวัดเพื่อรับรางวัลด้านการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี

ขณะที่นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า กว่าร้อยละ 47 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์มีปัจจัยเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัย และกว่าร้อยละ 40 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเกิดจากการขับรถเร็ว รวมถึงมีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุกว่าร้อยละ 16 ซึ่ง ศปถ.จะได้ผลักดันให้การส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย การควบคุมการใช้ความเร็ว และการสร้างความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นประเด็นสำคัญในการลดอุบัติเหตุทางถนนในปี 2558 เพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้จะได้ทบทวนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยประสานจังหวัดสรุปวิเคราะห์สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง จุดบกพร่อง เพื่อกำหนดแนวทาง มาตรการและแผนงานขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุและสร้างความปลอดภัยทางถนนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงจะได้นำแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 มาจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแนวทางทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2554–2563 ที่มุ่งลดการเสียชีวิตของคนไทยจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนภายในปี พ.ศ.2563 และให้ถนนทุกสายของประเทศไทยเป็นเส้นทางแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ