กรมชลฯ เน้นสำรองน้ำในเขื่อนป่าสักฯให้มากสุดเพื่อใช้ไล่น้ำเค็มรุกล้ำ

ข่าวทั่วไป Monday April 20, 2015 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำของแหล่งน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะเน้นการใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เป็นหลัก โดยจะสำรองน้ำไว้ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้มากที่สุด สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินหากเกิดมีน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาถึงปากคลองสำแล ซึ่งเป็นจุดสูบน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง เนื่องจากอยู่ในระยะทางที่ใกล้สามารถปล่อยน้ำมาเจือจางน้ำเค็มได้เร็วกว่าเขื่อนอื่นๆที่อยู่ทางตอนบน

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(20 เม.ย.58) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,379 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,579 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,981 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,131 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 308 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 265 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 285 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 282 ล้านลูกบาศก์เมตร

รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 4,257 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำใช้การได้จำนวนนี้ แยกเป็นปริมาณน้ำที่ใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 57/58 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้ ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 3,900 ล้านลูกบาศก์เมตร จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อสนับสนุนการทำนาปีของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้สามารถเริ่มทำการเพาะปลูกได้พร้อมกัน เพื่อให้ทันเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลากในช่วงเดือนกันยายน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ