ผู้ว่าฯ กทม. เผยปริมาณฝน 8 มิ.ย.สูงกว่าปกติ ยันจนท.ทำงานเต็มที่ เร่งจัดการขยะ

ข่าวทั่วไป Wednesday June 10, 2015 18:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครว่า จากสถานการณ์ฝนตกเมื่อวันจันทร์ที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปริมาณฝนสูงสุดในกรุงเทพฯ วัดได้ 140 มิลลิเมตร ซึ่งสูงเกินกว่าปกติและมากถึง 1 ใน 10 ของปริมาณฝนตลอดทั้งปี โดยเกิดขึ้นระหว่างที่ตนเองเดินทางไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ แต่ก็ได้ติดตามสถานการณ์และประสานงานกับปลัดกรุงเทพมหานครตลอดเวลา ซึ่งได้รับแจ้งว่าเส้นทางหลัก เช่น ถนนพระราม 4 และถนนอโศกมนตรี เกิดน้ำท่วมขังและสามารถเร่งระบายน้ำบนผิวจราจรได้ภายใน 08.00-09.00 น. โดยประมาณ

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบประสิทธิภาพการระบายน้ำเมื่อวันที่ 24 มี.ค.58 เกิดฝนตกบริเวณพระราม 4 และถนนอโศกมนตรี ปริมาณฝนวัดได้ 63.5 มิลลิเมตร มีน้ำขับรอการระบายและใช้เวลาในการระบายน้ำ 3 ชั่วโมง 25 นาที ส่วนเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ปริมาณฝน 140 มิลลิเมตร ซึ่งปริมาณมากกว่าถึง 2 เท่า แต่ใช้เวลาในการระบาย 4 ชั่วโมง 15 นาที บริเวณซอยสุทธิพร เขตดินแดง เมื่อวันที่ 24 มี.ค.วัดปริมาณฝนได้ 55 มิลลิเมตร ใช้เวลาระบาย 1 ชั่วโมง 30 นาที ขณะที่วันที่ 8 มิ.ย. ปริมาณฝน 85 มิลลิเมตร ใช้เวลาในการระบาย 50 นาที และบริเวณถนนศรีอยุธยา หน้าวังสวนผักกาด วันที่ 24 ปริมาณฝนวัดได้ 57 มิลลิเมตร ใช้เวลาการระบาย 55 นาที แต่เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ปริมาณฝน 69.5 มิลลิเมตร สามารถระบายน้ำได้แห้งก่อนฝนหยุดตก เป็นการแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

"ขอขอบคุณ ปลัดกรุงเทพมหานคร ข้าราชการและลูกจ้างของกรุงเทพมหานครทุกคนที่ออกปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ฝนตกในคืนวันที่ 7 มิ.ย.และต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 8 มิ.ย. ซึ่งถือว่าแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยเมื่อตนได้รับทราบรายงานสถานการณ์ฝนและน้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็ได้ตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ ทันที แต่การกลับมาอย่างเร่งด่วนไม่ใช่เพราะมีข้อกังขากับการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่กลับมาด้วยความเต็มใจเพราะทราบดีว่าประชาชนรู้สึกกังวลกับปัญหาน้ำท่วม และยังคงจดจำสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 เป็นอย่างดี"

สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมานั้น ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า เนื่องจากได้รับเชิญจากนายกเทศมนตรีเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเดินทางมาเชิญอย่างเป็นทางการด้วยตนเอง เพื่อร่วมการประชุมด้านความปลอดภัยของเมือง ซึ่งนับเป็นสำคัญและประชาชนให้ความสนใจเช่นเดียวกัน โดยในโอกาสไปประชุมด้านความปลอดภัยตนเองก็ได้ศึกษาดูงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วย เนื่องจากประเทศเนเธอร์แลนด์นับว่าเป็นประเทศที่มีระบบการป้องกันน้ำท่วมที่ดีที่สุดในโลก และตนเองทราบดีว่าปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่อยู่ในใจของประชาชนมาโดยตลอด แต่ทั้งนี้เนเธอร์แลนด์และกรุงเทพมหานครมีลักษณะแตกต่างกัน โดยเนเธอร์แลนด์มีปัญหาจากน้ำทะเลเพียงมิติเดียว มีปริมาณฝนตกเพียง 7-10 มิลลิเมตร ขณะที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ต่ำมาก บางแห่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง อีกทั้งมีปริมาณฝนมากถึง 140 มิลลิเมตร นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านน้ำทะเลหนุน และน้ำเหนือไหลหลากด้วย

ในการประชุมวันนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลและรับทราบถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและการแก้ไขปัญหา ซึ่งจากรับฟังรายงานนั้นกทม.ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในทิศทางที่ถูกต้อง โดยตั้งแต่ปี 2552 ที่ตนเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อฝนตกหนักบนถนนสายหลักจะพบน้ำท่วมขังหลายเส้นทาง เช่น ถนนศรีนครินทร์ รามคำแหง 2 และถนนลาซาล แต่ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวสามารถระบายน้ำได้เร็ว ซึ่งตนเชื่อว่าการพัฒนาระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานครทั้งก่อนหน้านี้และปัจจุบันเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง แม้วันนี้ระบบจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่การแก้ไขปัญหาก็ทำได้เร็วขึ้น จุดอ่อนน้ำท่วมจากเดิม 37 จุด ขณะนี้ลดลงเหลือ 22 จุด และโครงการต่างๆ ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป อย่างไรก็ดีกทม.ได้ของบประมาณในการเดินหน้าป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากรัฐบาลต่อเนื่อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดใหม่จะให้การสนับสนุน

นอกจากนี้ กทม.จะพัฒนาระบบเตือนสถานการณ์ฝนก่อนการเดินทาง โดยปัจจุบันกทม.ได้เพิ่มเรดาร์ตรวจสอบสภาพอากาศซึ่งมีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งหากระบบเรดาร์ทั้งหมดสามารถเชื่อมต่อระบบเรียบร้อยจะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนแก่ประชาชน ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกแขนงในการประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบก่อนออกเดินทางด้วย ในส่วนของการจราจรติดขัดซึ่งเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อฝนตก ต้องขอบคุณพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่จะสนันสนุนให้กองทัพเข้าร่วมการช่วยเหลือ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่กทม.จะร่วมทำงานกันอย่างบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ

ด้านขยะมูลฝอย ซึ่งหลายฝ่ายกังวลต่อปัญหาดังกล่าวนั้น กทม.จะบูรณาการทำงานทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ทิ้งขยะเป็นที่ นัดวันทิ้งขยะชิ้นใหญ่ รวมถึงใช้มาตรการทางกฎหมายจับปรับผู้ฝ่าฝืนทิ้งขยะในแม่น้ำคูคลอง เนื่องจากที่ผ่านมากทม.จัดเก็บขยะในกรุงเทพฯ กว่า 4 แสนตันนต่อปี หรือ 1,800ตันต่อวัน แต่ปัจจุบันเพียงครึ่งปีแรกกทม.สามารถจัดเก็บขยะได้มากถึง 3 แสนตัน อย่างไรก็ตาม กทม.จะจัดหาระบบในการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และหากจำเป็นต้องมีกฎหมายระดับชาติเพื่อการบังคับใช้ก็จะดำเนินการเพื่อควบคุมการทิ้งขยะ รวมถึงบทลงโทษต่างๆ ให้เข้มแข็งขึ้น ตลอดจนจะกำชับ ให้สำนักงานเขตและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่และปฏิบัติงานตามแผนอย่างเข้มข้นเมื่อคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ