(เพิ่มเติม) กรมชลฯ ปรับแผนใช้น้ำรับมือวิกฤติภัยแล้งในรอบ 23 ปี วอนชาวนาอย่าฝืนปลูกข้าว

ข่าวทั่วไป Friday June 12, 2015 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้อยู่ในระดับ 4-5 ในรอบ 23 ปี เนื่องจากสถานการณ์น้ำในปีนี้เข้าขั้นวิกฤต จากที่ปกติในช่วงเดือนพฤษภาคมน้ำจะต้องไหลลงอ่างฯเฉลี่ยวันละประมาณ 20 ล้านลบ.ม. แต่ปีนี้น้ำไหลลงอ่างฯเพียงวันละ 5 ล้านลบ.ม.โดยเฉลี่ย และเดือนมิถุนายนน้ำจะต้องไหลลงอ่างฯเฉลี่ยวันละประมาณ 30 ล้านลบ.ม.แต่วันนี้น้ำไหลลงอ่างฯเพียงวันละ 5 ล้านลบ.ม.เช่นกัน
"ปีนี้ภัยแล้งระดับ 4-5 แต่ยังดีกว่าปี 35 ปี 40-41 ที่น้ำจะไหลลงอ่างฯ น้อยกว่านี้....ตั้งแต่ต้นพฤษภาคมปีนี้น้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ไหลลงอ่างฯ 219 ล้านลบ.ม.จากปกติจะต้องไหลลงอ่างฯ 900 กว่าล้านลบ.ม.และเพิ่มขึ้นทุกวัน"

จากการที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าฝนจะตกลงมาเล็กน้อยในช่วงที่จะถึงนี้ และจะตกน้อยหรือไม่ตกเลยจนกระทั่งปลายเดือนกรกฎาคม ลักษณะเช่นนี้คงจะไม่มีน้ำมาเติมอ่างฯ ถ้าใช้อย่างเดียวก็จะหมดอย่างรวดเร็ว และจะเสียหายทั้งระบบ

สำหรับปริมาณน้ำในอ่างฯที่มีขณะนี้ 1,400 ล้านลบ.ม.หากใช้ในอัตราปกติและไม่มีฝนเลยน่าจะใช้ได้ประมาณ 20 วัน เราจึงต้องปรับแผนบริหารจัดการน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์และพื้นที่ที่ปลูกพืชไปแล้ว 2.8 ล้านไร่ รวมประมาณ 30-35 ล้านลบ.ม./วัน จนถึงช่วงที่ฝนจะตกชุกในเดือนกรกฎาคมหรือประมาณ 40 วันนับจากนี้

ส่วนลุ่มเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวหรือพืชใดๆ ซึ่งเดิมเราวางแผนปลูกข้าว 7.4 ล้านไร่ และพืชอื่นๆอีก รวมทั้งหมด 8 ล้านกว่าไร่ก็คงต้องให้ชะลอการปลูกก่อน เพราะน้ำไปไม่ถึง

"เราคงไม่มีมาตรการออกมาใช้กับชาวนาที่ละเมิดคำขอร้องจากกรมชลประทานลักลอบปลูกข้าวปลูกพืชในช่วงนี้ แต่พยายามขอความร่วมมือจากฝ่ายปกครอง ทหาร กอ.รมน. จัดรอบเวรส่งน้ำสำหรับภารกิจที่กล่าวไปแล้ว" นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

ล่าสุด ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก อยู่ที่ 30% เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ อยู่ที่ 38% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี อยู่ที่ 10% ขณะที่มีการใช้น้ำเกินแผนไปถึง 1,200 ล้านลบ.ม. จากแผนที่วางไว้ 2,900 ล้านลบ.ม. ใช้จริง 4,100 ล้านลบ.ม. คงเหลือน้ำ ณ วันที่ 1 พ.ค. 58 จำนวน 3,800 ล้านลบ.ม. มากกว่าปี 2557 จำนวน 600 ล้านลบ.ม. (ปริมาณน้ำ ณ วันที่ 1 พ.ค. 57 รวม 3,200 ล้านลบ.ม.)

อีกทั้ง การประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ในช่วงเวลานี้จะมีฝนตกน้อย และจะเริ่มตกชุกตามฤดูกาลในช่วงกลาง-ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ส่งผลให้มีไหลลงอ่างเก็บน้ำน้อยกว่าปกติมาก ทำให้ในพื้นที่เพาะปลูกต้องใช้น้ำจากระบบชลประทานมากขึ้น กรมชลประทาน ได้วิเคราะห์แล้ว จำเป็นต้องวางแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆให้ได้จนถึงช่วงฝนตกชุกตามฤดูกาล จึงเห็นควรให้ชะลอการปลูกข้าวนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนของเกษตรกรที่ยังไม่ได้เพาะปลูกอีกประมาณ 4.61 ล้านไร่ ออกไปก่อน จนกว่าจะถึงช่วงฝนตกชุกตามฤดูกาล (วางแผนปลูกข้าวนาปีทั้งหมด 7.45 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 2.84 ล้านไร่)

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันจะเน้นการจัดสรรให้กับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ไม่ให้ขาดแคลน รวมถึงข้าวนาปีที่ปลูกไปแล้วกว่า 2.84 ล้านไร่ให้สามารถเก็บเกี่ยวได้โดยไม่เสียหาย พร้อมทั้งลดการใช้น้ำจากเดิมวันละประมาณ 62 ล้าน ลบ.ม.คงเหลือวันละประมาณ 30-35 ล้าน ลบ.ม.จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันประหยัดการใช้น้ำให้มากที่สุด พร้อมทั้งขอให้ปฏิบัติการคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ชลประทานอย่างเคร่งครัดด้วย

ด้านนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ได้ประเมินค่าเสียโอกาสของการหมุนเวียนเม็ดเงินการปลูกข้าวนาปี 2558 ในเขตลุ่มเจ้าพระยา หลังจากที่กรมชลประทาน ได้ประกาศเรื่องขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมาเนื่องจากฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอ โดยพบว่ามีค่าเสียโอกาสรวม 60,171.93 ล้านบาทแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1.ช่วงเริ่มเพาะปลูก ที่ต้องมีค่าจ้างแรงงาน และค่าพันธุ์ จำนวน 25,576.67 ล้านบาท 2.ช่วงดูแลบำรุงรักษาต้นข้าว ซึ่งต้องลงทุนใส่ปุ๋ยและสารเคมีเกษตร 20,221.47 ล้านบาทและ 3.ช่วงเก็บเกี่ยว และขนส่ง เป็นเงิน 14,373.79 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ