กสทช.ลั่นยุติประมูล 4G ทันทีหากพบฮั้ว,คาด ADVANC,JAS สู้ชิงทั้ง 2 ไลเซ่นส์

ข่าวทั่วไป Wednesday November 4, 2015 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่อง "เหลียวหลังแลหน้า 4G ยุคสิ้นสุดสัมปทานมือถือใครได้ประโยชน์" ว่า การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 พ.ย.58 และคลื่นความถี่ 900 MHz ในวันที่ 15 ธ.ค.58 ทางกสทช.ยืนยันว่าจะไม่มีการฮั้วประมูลกันอย่างแน่นอน โดยถ้าหากพยว่ามีการฮั้วประมูลเกิดขึ้นจริง กสทช.จะยุติการประมูลทันที และดำเนินคดีทางอาญาต่อไป ซึ่งจะสังเกตุได้จากการเคาะราคา โดยการแข่งขันผู้เล่นจะต้องเคาะราคาเพื่อให้เหลือผู้ชนะเพียง 2 ราย

ทั้งนี้ประเมินการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz อย่างน้อยต้องมีผู้แข่งขันจำนวน 3 รายอย่างแน่นอน โดยวิเคราะห์ได้จากความต้องการใช้คลื่น ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส มีจำนวนคลื่นที่จำกัดมาก ทำให้บริษัทฯจะต้องเดินหน้าเอาคลื่น 1800 MHz หรือ 900 MHz มาให้ได้ และจะต้องมีการเคาะราคาเพื่อให้ชนะการประมูลดังกล่าว

ขณะที่ บมจ.โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จะหมดสัญญาสัมปทานในคลื่น 1800 MHz ในปี 61 ซึ่งก็ยังมีความไม่แน่นอนของการประมูลในอนาคต จึงจำเป็นที่จะต้องมีคลื่นเพื่อสำรองไว้ใช้ในการให้บริการต่อไป ทำให้มีความมั่นใจว่า DTAC จะต้องเคาะราคาในคลื่นที่มีความต้องการ และน่าจะได้รับใบอนุญาตอย่างน้อย 1 ใบ

ส่วนของ ทรูมูฟไ ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) แม้ว่าจะมีคลื่นอยู่แล้วบางส่วน แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสำรองคลื่นดังกล่าวไว้ใช้ เนื่องจากคลื่นที่มีอยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงานที่ทำร่วมกับบมจ.กสท โทรคมนาคม แต่การได้รับใบอนุญาตจากกสทช.ย่อมมีความแตกต่างกัน โดยคาดทรูมูฟ น่าจะมีความต้องการคลื่น 900 MHz และอย่างน้อยจะได้รับใบอนุญาต 1 ใบ

ด้านผู้ประกอบการรายใหม่ คือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) มองว่ามีความต้องการร่วมแข่งขันอย่างแท้จริง และน่าจะมีความต้องการถึง 2 ใบอนุญาต

"เชื่อว่าการประมูล 4G จะต้องมีการแข่งขันกันอย่างแน่นอน เนื่องด้วยทุกคนมีความต้องการคลื่นความถี่ และมองว่าคลื่น 900 MHz น่าจะมีความต้องการมากที่สุดทั้ง 4 ราย เนื่องด้วยวงเงินประมูลไม่สูงมาก ขณะที่เงื่อนไขของการประมูลครั้งนี้แตกต่างกับการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz หรือ 3G ที่ผ่านมาซึ่งการประมูล 3G มีการกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ถึง 70% ของราคามูลค่าคลื่น และการเคาะราคาจะเคาะหรือไม่ก็ได้ หรือยืนราคาเดิมที่ 70%

แต่การประมูลในครั้งนี้ เรามีมาตรการในการป้องกันทั้งหมดอย่างรัดกุม เช่นในคลื่น 1800 MHz มีราคาเริ่มต้นการประมูลกำหนดไว้ที่ 15,912 ล้านบาท และการเคาะราคาครั้งที่ 1 จะเพิ่มขึ้น 5% โดยผู้แข่งขันทุกรายจะต้องเคาะราคาในครั้งนี้ทุกราย ถ้าหากไม่เคาะราคาก็จะขาดคุณสมบัติ และถูกยึดแบงก์การันตีทันที"นายฐากร กล่าว

นอกจากนี้หลังจากการประมูลคลื่น 1800 MHz เสร็จสิ้นจะสามารถรับรองผู้ชนะการประมูลได้ไม่เกินในวันที่ 18 พ.ย.58 และจะเริ่มให้บริการระบบ 4G อย่างเร็วที่สุดในเดือนม.ค.59 ส่วนคลื่น 900 MHz จะสามารถรับรองผู้ชนะการประมูลได้ไม่เกินในวันที่ 22 ธ.ค.58 คาดจะเปิดให้บริการอย่างเร็วที่สุดปลายเดือนม.ค.59 โดยเงินที่ได้จากการประมูลครั้งนี้จะนำส่งเป็นรายได้เข้ารัฐต่อไป

สำหรับหน่วยงานของรัฐ บมจ.กสท โทรคมนาคม และบมจ.ทีโอที เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถประกอบธุรกิจนี้ได้ มองว่างานต่างๆที่แข่งขันกันภาคเอกชน โดยเฉพาะงานด้านบริการ ก็อาจจะมีการแข่งขันกันได้ยาก ฉะนั้น หน่วยงานของรัฐดังกล่าวก็ต้องไปดำเนินการในส่วนอื่น เช่น ปรับตัวเป็นผู้ให้บริการด้านโครงข่าย หรือให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ไม่ทับซ้อนกับภาคเอกชน เป็นต้น ทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถอยู่ได้ และประชาชนก็จะต้องได้ประโยชน์มากขึ้น

นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานคณะอนุกรรมการมาตรฐานวิจัยและพัฒนาธุรกรรมทางอีเลกทรอนิกส์ คณะกรรมการธุรกรรมทางอีเลกทรอนิกส์ กล่าวว่า โอกาสของการฮั้วประมูลน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากผู้ประกอบการทุกรายมีความต้องการคลื่นความถี่ เพื่อที่จะนำไปดำเนินธุรกิจ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นที่จะต้องมีการบริการให้มากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราค่าบริการจะต้องถูกลง

สำหรับหน่วยงานของรัฐ ทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว มองว่าทางรัฐจะต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้หน่วยงานเดินหน้าไปได้ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงการปรับเปลี่ยน และแตกต่าง โดยเทคโนโลยีที่มีการปเลี่ยนแปลงกับคลื่นความถี่ที่มีอยู่เดิม ต้องมองว่าจะนำไปใช้อย่างไรได้บ้าง เช่น TOT มีเสาสัญญาณแต่ไม่มีคลื่น ซึ่งยังมีโอกาสที่จะหาประโยชน์สร้างรายได้จากตรงนี้ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะทำให้หน่วยงานรัฐอยู่รอดจะต้องมีการปฎิรูปองค์กรครั้งใหญ่ รวมไปถึงแนวความคิดด้านการบริหาร

นายชาญไชย ไทยเจียม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การประมูล 4G ครั้งนี้ จะช่วยส่งผลดีต่อการพัฒนาชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสังคม การศึกษา รวมไปถึงธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น เช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น ,การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ขณะที่มองผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เข้าร่วมประมูล 4G น่าจะสนใจคลื่น 900 MHz มากกว่าคลื่น 1800 MHz เนื่องด้วยทรัพยากรที่มีอยู่มีมากกว่า ซึ่งจะมีการลงทุนในระดับที่น้อยกว่า

กรณีที่ผู้ประกอบการแต่ละรายประมูลคลื่นดังกล่าวไม่ได้ มองว่าจะเกิดความเสียหายและผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ เอไอเอส เนื่องด้วยบริษัทฯมีลูกค้าจำนวนมากราว 40 ล้านคน จากจำนวนประชากรประเทศไทยที่มีอยู่ 61 ล้านคน จึงมีความต้องการคลื่นเพื่อรองรับความต้องการใช้งาน ส่วน DTAC และ ทรูมูฟ ยังมีคลื่นเหลืออยู่ ซึ่งหากมองเอไอเอส เป็นคู่แข่ง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสำรองคลื่นเผื่อเอาไว้ ประกอบกับมีผู้แข่งขันรายใหม่เพิ่มเข้ามาอีกด้วย โดยการแข่งขันครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันที่ยอมกันไม่ได้ แต่เมื่อพิจารณาผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเห็นได้ชัด น่าจะเป็นบมจ.กสท โทรคมนาคม และบมจ.ทีโอที ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในครั้งนี้ โดยทั้ง 2 หน่วยงานอาจจะต้องปรับตัวในเรื่องของธุรกิจ วางยุทธศาสตร์ใหม่ โดยแปลงคุรุภัณฑ์ที่มีอยู่นำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ