นักวิจัยแนะรัฐบาลตั้งองค์กรปราบปรามการค้ามนุษย์อุดช่องโหว่กม.แรงงาน

ข่าวทั่วไป Monday November 23, 2015 10:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน หัวหน้าโครงการวิจัยเชิงคุณภาพร่วมกับ นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ค้นคว้าเอกสาร สัมภาษณ์เจาะลึกบุคคลกุญแจสำคัญ เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยและต่างชาติ องค์การระหว่างประเทศ และเหยื่อค้ามนุษย์ พบความเป็นไปได้ที่รัฐบาลและ คสช.จะมีผลงานทำให้ประเทศไทยหลุดจากเทียร์ 3 ในรายงานของกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา

เนื่องจากประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และการดำเนินการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนรู้เห็นในการค้ามนุษย์ รวมถึงดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดบังคับใช้แรงงานในเรือประมงและผู้ก่ออาชญากรรมการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ แต่การที่ประเทศไทยติดเทียร์ 3 สองครั้งติดกันเพราะเป็นการพิจารณาข้อมูลก่อนสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่การจัดอันดับครั้งต่อไปจะใช้ข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา

ทั้งนี้ จากผลวิจัยล่าสุดพบช่องโหว่กฎหมายแรงงาน โดยเห็นว่ากฎหมายแรงงานต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยตกเป็นเบี้ยล่างถูกอ้างเพื่อจัดอันดับประเทศไทยให้อยู่ที่เดิมอีก นั่นคือ กฎหมายแรงงานควรมีบทบัญญัติเฉพาะเรื่องการต่อต้านแรงงานบังคับ โดยแรงงานบังคับหมายถึง งานหรือบริการทุกประเภทที่ผู้ว่าจ้างได้บังคับให้ลูกจ้างจำยอมต้องทำงานโดยไม่เป็นไปตามสัญญาจ้างหรือตามกฎหมาย รวมถึงการกระทำด้วยประการใดๆ ที่ทำให้ลูกจ้างอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนหรือหลีกเลี่ยงได้ และจำต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอมที่ต้องทำงานให้นายจ้างต่อไปโดยนอกเหนือไปจากข้อตกลงหรือบังคับทำงานนอกเหนือกฎหมายผิดครรลองครองธรรม เช่น ทำร้าย ข่มขู่ ข่มขืนใจ หน่วงเหนี่ยว กักขัง หลอกลวง หรือยึดเอกสารส่วนตัว ฯลฯ ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงการบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วย

ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายที่ป้องกันได้ทุกมิติอย่างครอบคลุม ไม่ให้เกิดการหลุดรอดของผู้กระทำผิดในขบวนการค้ามนุษย์ นายจ้างที่บังคับใช้แรงงานและการใช้แรงงานเด็กเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ข้อเสนอให้อุดช่องโหว่ทางกฎหมายนี้น่าจะเป็นการทำงานเชิงรุกของรัฐบาลและ คสช.ที่ทำให้เกิดมาตรการทางกฎหมายที่เป็นเอกภาพรวมเป็นองค์ประกอบทางกฎหมายเดียวกัน และการเกิดองค์กรกลางถาวรที่ดูแลต่อต้านการค้ามนุษย์ทั้งระบบเหมือน หน่วยงาน ป.ป.ส. ออกมาเป็น ป.ป.ม. คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จะช่วยให้เปลี่ยนสถานภาพประเทศไทยจากการถูกคาดโทษมาเป็นผู้นำต่อต้านการค้ามนุษย์ในภูมิภาคอาเซียนได้ และถ้าไม่เกิดในรัฐบาลยุคของ คสช.นี้ คงยากที่จะเกิดในยุคการเมืองแบบดั้งเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ