ศปมผ.แจงแก้ปมประมง IUU คืบไปมาก คาดหวังอียูเห็นความตั้งใจปลดใบเหลือง

ข่าวทั่วไป Thursday January 14, 2016 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายว่า รัฐบาลมีความตั้งใจในการปัญหาอย่างจริงจังตามพันธะสัญญาระหว่างประเทศและตามหลักสากล หลังจากเมื่อวันที่ 21 เม.ย.58 ทางสหภาพยุโรป(อียู) ได้ให้ใบเหลืองกับประเทศไทย เพื่อให้ปรับปรุงตามมาตรฐานให้เรียบร้อยภายในระยะเวลา 6 เดือน เนื่องจากการทำประมงในน่านน้ำไทยไม่ได้มีการควบคุมอย่างจริงจัง ส่งผลให้ทรัพยากรทะเลเกิดความเสียหาย และละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศ

เบื้องต้นพบว่าปัญหาปริมาณเรือประมงที่กระทำผิดประเภทการบริการจัดการที่คำนึงตามหลักกฏหมายบกพร่อง และการแปรรูปอุตสาหกรรมทางทะเลที่มีการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าวและกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือแก้ไขปัญหาภาพรวมและบูรณาการร่วมกันโดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) เมื่อวันที่ 1 พ.ค.58 และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายังเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืนให้ดีที่สุด และหวังอียูจะได้เห็นความตั้งใจและจริงใจของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหา ซึ่งผลจะออกมาเป็นอย่างไร ถือว่าอยู่เหนือการควบคุม โดยทุกคนต้องยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้น และยืนยันว่าการทำงานของทุกหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาเป็นการบูรณาการร่วมกัน

ด้าน พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาต้องร่วมมือกับหลายภาคส่วน ไม่ใช่เพียงกรมประมงเท่านั้น ในฐานะที่ประเทศไทยเข้าร่วมสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ(UN) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) จำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกิจตามมาตรฐานสากล ซึ่งผู้แทนอียูสรุปว่าระบบการควบคุมติดตามเรือที่มีอยู่ไม่เพียงพอ การบังคับกฏหมายไม่มีการบูรณาการอย่างจริงจัง ดังนั้น ศปมผ.จึงได้มีการตรวจเรือตรวจจับเครื่องมือจับสัตว์น้ำ และวางระบบควบคุมติดตามเรือด้วยการติดจีเอ็มเอสกว่า 40,000 ลำ และเมื่อเดือนกันยายน 2558 ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง และเมื่อครบระยะเวลา 6 เดือนนั้น ทางอียูได้เพิ่มโจทย์แก้ไขระบบแรงงานผิดกฏหมาย และแรงงานค้ามนุษย์ระหว่างประเทศให้เกิดความเชื่อมโยง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการบังคับใช้กฏหมายหลักกว่า 100 มาตรา และกฏหมายลูกอย่างมีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ส่วนผลงานที่ผ่านมามีการจับเรือประมงผิดกฏหมาย จัดระเบียบเรือประมง การอบรมเจ้าหน้าที่ และชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวประมง ส่วนแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านจากต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ได้ร่วมมือกับกระทรวงต่างประเทศ และลงนามความร่วมมือร่วมกันระหว่างประเทศ

พล.ร.ท.จุมพล ยืนยันว่า การดำเนินงานที่ผ่านมามีผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมกว่าร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือคือการพัฒนาเพื่อให้เกิดความครอบคลุม คาดว่าภายในปี 2560 ศูนย์ประมงทั้ง 28 แห่งจะสามารถติดตามเรือได้ทั้งหมด พร้อมสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีความรู้และหวงแหนทรัพยากรไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน และไทยเป็นมาตรฐานโดยภาครัฐมีหน้าที่ควบคุมเท่านั้น

ขณะที่นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปตามกรอบที่วางไว้ คือด้านกรอบกฏหมายการประมงที่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัย และครอบคลุมทั้งในส่วนของ IUU การทำประมงนอกน่านน้ำ กรอบการบริหารจัดการประมงทะเลไทยอย่างชัดเจน และแผนปฏิบัติการต่างๆ ที่แสดงถึงการต่อต้านการทำประมงเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.58 โดยมีกฏหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับ IUU จำนวน 52 ฉบับ ส่วนการพัฒนาระบบและการควบคุมติดตาม เฝ้าระวังการทำประมง ได้จัดทำแผนการตรวจสอบแห่งชาติ เพื่อวางกรอบในการควบคุมและการตรวจสอบที่ทันสมัย โดยใช้ระบบอิเลคทรอนิกส์เป็นมาตรฐานในการควบคุมการตรวจสอบที่ทันสมัย โดยจะใช้ระบบสากลสำหรับการปฏิบัติงานตรวจสอบในสายผลิตที่น่าเชื่อถือ เช่น ระบบติดตามเรือประมงที่ได้จัดตั้งศูนย์ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาครวม 15 ศูนย์ เพื่อติดตามระบบและออกกฏหมายบังคับใช้กับเรือประมงไทยที่ติดตั้งระบบติดตามเรือ ระบบเครือข่ายฐานข้อมูลเรือประมง และการทำประมงได้ปรับปรุงฐานข้อมูลมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งมีการฝึกอบรมผู้ใช้งานไปแล้วกว่า 80 คน

นอกจากนี้ กรมประมงยังลงนาม MOU กับกรมศุลกากร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมการปฏิบัติตรวจสอบการเข้าออก และการส่งสินค้าทางน้ำ ทั้งนี้ยังวางแผนปฏิบัติงานติดตาม และควบคุมเรือประมง 60 ตันกรอสขึ้นไปที่ออกไปทำประมงนอกน่านน้ำ รวมถึงเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ทำประมงในน่านน้ำ ซึ่งพบว่ามีเรือประมงที่ออกไปทำประมงนอกน่านน้ำไทยถีง 76 ลำ ขณะเดียวกันยังสร้างผู้สังเกตการณ์บนเรือประมง เพื่อตรวจสอบการทำประมง และแรงงานประมงกลางทะเล โดยได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ไปแล้วจำนวน 20 ราย รวมถึงการจัดทำคู่มือการสังเกตการณ์ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติบนเรือประมง เบ็ดราว อวนลาก และเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ

อย่างไรก็ตามยังวางแผนการปฏิบัติงานปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงในประเทศให้แล้วเสร็จ โดยขณะนี้กำลังจัดทำระบบต้นแบบการตรวจสอบย้อนกลับอิเลคทรอนิกส์สำหรับสัตว์น้ำนำเข้า ซึ่งคาดว่าจะใช้ได้ในปี 2559 และผลจากการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่ปผ่านม่าเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยเราดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการประมงของไทยที่จะแสดงจุดยืนแก่นานาประเทศว่า ไทยพร้อมที่จะขจัดปัญหาประมงของ IUU ให้หมดไปได้

นางจิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนเรือไม่ตรงกับตัวเลขของกรมเจ้าท่าและอาชญาบัตร จะนวน 41,753 ลำ เรือที่ลงทะเบียนและมีเรืออีก 8,024 ลำ ที่ไม่ต่ออายุภายใน 3 เดือน ถือเป็นเรือที่ไม่ได้ลงทะเบียน และถูกถอนทะเบียนเรือไปแล้ว โดยจะนำจำนวนเรือไปคำนวนค่าการจับสัตว์น้ำที่เหมาะสม และแรงงานประจำเรือรวมถึงผู้ควบคุมเรือมีการจดแจ้งไม่ตรงกับเอกสารทะเบียนเรือ เพื่อติดตามแรงงานต่างด้าวในฐานข้อมูลทะเบียนเรือ ซึ่งในวันที่ 23 ก.พ.59 จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ เพื่อให้มีกรรมสิทธิ์เรือที่ถูกต้อง

ด้านนายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ครม.ได้เห็นชอบหลักการเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ถึงร่างระเบียบกฏกระทรวงห้ามมิให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. ... พร้อมทั้งปรับสถานะแรงงานต่างด้าวในเรือประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำให้ถูกกฎหมาย ออกประกาศ และจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทำงานประมงได้เป็นเวลา 1 ปี โดยให้นายจ้างนำแรงงานมารายงานตัว นับเป็นการผ่อนผันให้ภาคประมงไม่ต้องถูกส่งกลับ ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 58 ถึง 30 ม.ค. 59 รวมระยะเวลา 3 เดือน โดยจดทะเบียนแล้ว 12,606 คน แปรรูปสัตว์น้ำ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.58 ถึง 2 ก.พ.59 จดทะเบียนแล้ว 22,443 คน

อีกทั้งให้แรงงานเปลี่ยนนายจ้างได้ ส่วนความร่วมมือทั้งใน และต่างประเทศ ได้มีการลงนามระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการประมงทะเลทั้งระบบกับกลุ่มเอ็นจีโอในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และแรงงานผิดกฎหมายทั้งระบบ ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้ลงนามข้อตกลงด้านการนำเข้าแรงงานกับประเทศกัมพูชาและเวียดนามเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งกรมประมงอยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือด้านการประมงกับประเทศมาเลเซีย และรอการตอบรับการทำข้อตกลงด้านการประมง และแรงงานกับประเทศเมียนมา ส่วนประเทศอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมงของทั้ง 2 ประเทศ อีกทั้งประเทศไทย กับฟิลิปปินส์ ได้เห็นชอบร่างข้อตกลงแล้ว แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาการลงนาม และกับประเทศลาวอยู่ระหว่างรอการพิจารณาร่างข้อตกลงด้านแรงงาน

นอกจากนี้ อธิบดีกรมจัดหางาน กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือชาวประมงที่ยื่นเรื่องเสนอไว้ 873 ลำ วงเงิน 228 ล้านบาท ได้ดำเนินการช่วยเหลือแล้วกว่าร้อยละ 70 และการช่วยเหลือการรับซื้อเรือประมงที่ประสงค์จะเลิกกิจการตามมติ ครม. วงเงิน 215 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนการรับคำร้องขอคืนสิทธิ์การทำประมงของเรือประมงจำนวน 8,024 ลำ ที่อาจตกสำรวจการดำเนินการที่ผ่านมาได้ประกาศให้ชาวประมงสามารถยืนเสนอได้ภายในเดือน ม.ค.59 อีกทั้งการช่วยเหลือด้านแรงงานลูกเรือไทยจากต่างประเทศที่กลับไทยจำนวน 1,398 ราย เป็นผู้เสียหายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 54 ราย พร้อมมาตรการให้ความช่วยเหลือประมงพื้นบ้าน กรมประมงจะมีการออกประกาศเป็นเขตทำการประมงพื้นบ้าน เขตทำการประมงพาณิชย์ รวมทั้งจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบการ

พล.ต.ท.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่งหลังจากจัดตั้ง ศปมผ.ก็ได้ออกคำสั่งให้ตำรวจทุกพื้นที่ตามแนวชายทะเล ดำเนินการให้เข้มข้น ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงวันที่ 11 พ.ค. 2558 ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวนมาก โดยแบ่งเป็นเจ้าของเรือ 7 คน ไต๋ก๋งเรือ 24 คน ผู้ควบคุมเรือ 15 คน ผู้ชักชวนในขบวนการ 45 คน และสามารถช่วยเหลือเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีได้ 15 คน ส่วนการดำเนินคดีมีผลเป็นรูปธรรมแล้ว 4 คดี คือ คดีล้งกุ้ง 2 คดีแรงงานในเรือประมง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดปัตตานีอย่างละ 1คดี ขณะที่การดำเนินคดีหลังจัดตั้ง ศปมผ. สามารถดำเนินคดีได้ถึง 316 คดี จากเดิม 276 คดี ส่วนผู้ต้องหาในคดีจำนวน 517 คน จากเดิม 312 คน

พล.ต.ท.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินการคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยจะใช้กฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ