ผู้เชี่ยวชาญ ชี้"ไวรัสซิกา"มีโอกาสระบาดในไทยเล็กน้อย-ปานกลาง

ข่าวทั่วไป Thursday February 4, 2016 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ชี้โรคติดเชื้อไวรัสซิกามีโอกาสระบาดในประเทศไทยเล็กน้อยถึงปานกลาง เตือนประชาชนที่มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ให้พบแพทย์ทันที หากจะไปในพื้นที่โรคระบาดควรปรึกษาแพทย์ก่อน ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันปราบยุงลาย โดยโรคนี้รักษาตามอาการ อาการมักไม่รุนแรงหายเองได้

"การประเมินความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคนี้ในประเทศมีเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อช่องทางหลักผ่านทางการโดนยุงลายกัด และช่องทางที่เป็นไปได้ เช่น จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์ รวมทั้งทางการมีเพศสัมพันธ์ แต่พบได้น้อยมาก" นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าว

สำหรับการเฝ้าระวังโรคมีข้อแนะนำให้ดำเนินการใน 4 ประเด็น ได้แก่ การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา การเฝ้าระวังในทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และการเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท โดยได้เตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วไว้พร้อมออกสอบสวนโรคทันที นอกจากนี้ ได้เฝ้าระวังในกลุ่มผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาดที่มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ อีกด้วย โรคนี้อาการมักไม่รุนแรง หายได้เอง ตรวจยืนยันเชื้อได้ด้วยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่าย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันบำราศนราดูร

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกรายงานข้อมูลปี 2558 จนถึงวันที่ 30 มกราคม 2559 พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสซิกาใน 26 ประเทศ และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ได้ประชุมภาวะฉุกเฉินภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ เพื่อพิจารณาสถานการณ์และความเสี่ยง และประกาศเป็นภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ให้ทั่วโลกช่วยกันรับมือกับไวรัสดังกล่าว

ส่วนในประเทศไทยพบผู้ป่วยครั้งแรก พ.ศ.2555-2558 กระจายอยู่ทุกภาคเฉลี่ยปีละ 5 ราย ทั้งนี้ ได้แนะนำให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ 1.ในกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้เฝ้าระวังโรคใน 4 ประเด็นข้างต้น รักษาผู้ป่วยตามแนวทางการรักษา ส่งตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการและควบคุมแมลงพาหะนำโรค 2.ในส่วนประชาชน เน้นการกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายและป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก หาก มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ อาจมีโอกาสเป็นโรคนี้ ขอให้พบแพทย์ทันที โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ 3.ในผู้ที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ระบาด ต้องระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด ใช้ยาทาป้องกันยุงกัด หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทาง ขอเน้นย้ำว่า โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการลดจำนวนยุงลาย ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งเป็นยุงในบ้าน ประชาชนต้องช่วยกัน “ปราบยุงลาย" ในบ้านและในชุมชนของตนเอง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการป้องกันควบคุมโรค ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


แท็ก โรคระบาด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ