กทม.เตรียมรับมือล่วงหน้า กำชับสำนักระบายน้ำดูแลพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Monday March 7, 2016 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเบญทราย กียปัจจ์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองโฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2559 ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมว่า ในการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครวันนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำรายงานแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากในช่วงฤดูฝนของทุกปีมักพบปัญหาจากการระบายน้ำ อันเนื่องมาจากการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพ รวมถึงบริเวณรอยต่อพื้นที่และปริมณฑล ซึ่งกทม. ต้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง บมจ.ทีโอที เพื่อวางแผนและเตรียมการล่วงหน้าก่อนเข้าฤดูฝน รวมทั้งกำชับหน่วยงานของกทม.ให้มีการติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ได้มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จุดเสี่ยง ดังนี้

พื้นที่ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง ถ.เชิดวุฒากาศ บริเวณหน้าสำนักงานเขตดอนเมือง และ ถ.กำแพงเพชร 6 ดำเนินการดังนี้ สำนักการระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว บริเวณ ถ.วิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก จากหน้าคลังสินค้าถึงบริเวณสะพานกลับรถ สร้างทำนบชั่วคราวบริเวณคูน้ำหลังร้านก๋วยเตี๋ยวนายใช้ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ถ.วิภาวดีรังสิตขาเข้าและขาออก ตอนคลองวัดหลักสี่ และก่อสร้างระบบระบายน้ำ ถ.วิภาวดีรังสิตถึงคลองเปรมประชากร ตอนท่าอากาศยานดอนเมือง กรมทางหลวง ได้ปรับปรุงท่อระบายน้ำข้าง ถ.วิภาวดีรังสิต การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดทำระบบระบายน้ำชั่วคราวในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยปรับปรุงระบบระบายน้ำ ถ.กำแพงเพชร 6 เป็นการถาวร และปรับปรุงท่อระบายน้ำข้าง ถ.วิภาวดีขาออก

พื้นที่ ถ.พหลโยธิน จากบริเวณหน้าเซียร์รังสิตถึงบริเวณแยกลำลูกกา ดำเนินการดังนี้ สำนักการระบายน้ำ ดำเนินการปรับปรุงระบบระบายน้ำบริเวณปาก ซ.พหลโยธิน 58 ถึงคูน้ำ ซ.แอนแนกซ์ แยก 1 ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ ปลาย ซ.พหลโยธิน 58 ตอนลงคลองสอง และดำเนินการก่อสร้างบ่อสูบน้ำเพิ่มเติม จ.ปทุมธานี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มบริเวณคลองลาดสนุ่น กรมทางหลวง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 4 เครื่องบริเวณทางขนานขาออกหน้าตลาดสี่มุมเมือง ก่อสร้างท่อระบายน้ำ ถ.ลำลูกกา จากถ.พหลโยธินถึงคลองลาดสนุ่น และท่อลอดถ.พหลโยธิน บริเวณทางเข้าถ.ลำลูกกา

พื้นที่โดยรอบอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ถ.รามอินทรา จากบริเวณวงเวียนถึงบริเวณ ซ.รามอินทรา 5 และ ถ.แจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ดำเนินการดังนี้ สำนักการระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวบริเวณ ถ.พหลโยธินขาออกข้างวัดพระศรีมหาธาตุ และบริเวณ ถ.พหลโยธินขาออก คลองรางอ้อ รางแก้วและบริเวณโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ ปรับปรุงสถานีสูบน้ำระบายน้ำคลองรางอ้อ รางแก้ว และก่อสร้างระบบระบายน้ำจากอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญถึงคลองรางอ้อ รางแก้ว และคลองถนน สำนักงานเขตบางเขน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว บริเวณคูน้ำข้างศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบกและบริเวณเยื้องศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก กรมทางหลวง อยู่ระหว่างปรับปรุงระบบระบายน้ำ บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ถ.รามอินทรา ถ.พหลโยธิน และการแก้ไขท่อระบายน้ำบริเวณหน้าห้างเทสโก้โลตัส ถ.พหลโยธิน การไฟฟ้านครหลวง อยู่ระหว่างแก้ไขระบบท่อสาธารณูปโภคที่กีดขวางระบบท่อระบายน้ำ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการแก้ไขระบบท่อสาธารณูปโภคที่กีดขวางระบบท่อระบายน้ำ

พื้นที่ ถ.แจ้งวัฒนะ จากบริเวณคลองประปาถึงบริเวณศูนย์ราชการ ดำเนินการดังนี้ สำนักการระบายน้ำ ก่อสร้างบ่อสูบน้ำ ถ.แจ้งวัฒนะ (ขาออก) ตอนลงคลองเปรมประชากร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ถ.แจ้งวัฒนะ (ขาเข้า) ฝั่งตรงข้ามการสื่อสารแห่งประเทศไทย ปรับปรุงเพิ่มขนาดบ่อสูบน้ำศูนย์ราชการ และก่อสร้างระบบระบายน้ำถ.แจ้งวัฒนะ จากศูนย์ราชการถึงคลองเปรมประชากร พื้นที่บริเวณแยกเกษตรหน้าตลาดอมรพันธุ์และหน้ากรมยุทธโยธาทหารบก สำนักการระบายน้ำ ก่อสร้างท่อขนส่งน้ำในแนว ถ.พหลโยธิน และ ถ.ประเสริฐมนูกิจ และก่อสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณคลองลาดพร้าว

พื้นที่ ถ.สุขุมวิท บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง ซ.ลาซาล และ ซ.แบริ่ง ดำเนินการดังนี้ สำนักการระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว บริเวณ ถ.สุขุมวิทฝั่งขาออกช่วงจากสนามกีฬาภูติอนันต์ ถึงบริเวณสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง และดำเนินการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำ พร้อมสถานีสูบน้ำ กรมทางหลวง เสริมผิวการจราจร ถ.สุขุมวิท บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง ก่อสร้างสถานีสูบน้ำถาวร บริเวณคลองสำโรงและคลองบางนา จำนวน 2 แห่ง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทุกพื้นที่ที่ได้ดำเนินการดังกล่าวเป็นพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และบริเวณใกล้เคียงถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจเนื่องจากมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้การทำงานทั้งหมดจะไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกทม. แต่ก็ขอให้หน่วยงานติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสิ่งที่แต่ละหน่วยงานปฏิบัติสอดคล้องกับแผนการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครหรือไม่ เพื่อเสริมสร้างระบบการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ และให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักการระบายน้ำนำแผนระยะยาวมาทบทวน เนื่องจากหลายพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลง มีการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น และมอบหมายผู้อำนวยการเขตเจ้าของพื้นที่ติดตามงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แผนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ