ผู้ว่าร.ฟ.ท.เร่งติดตั้งสัญญาณเตือนทุกจุดตัด แจงคนขับรถไฟชนรถบัสไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์

ข่าวทั่วไป Monday April 4, 2016 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีอุบัติเหตุรถไฟนำเที่ยว (กรุงเทพฯ - น้ำตกไทรโยคน้อย) ชนกับรถบัส 2 ชั้น ที่บริเวณ ต.งิ้วราย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐมนั้น ล่าสุด ร.ฟ.ท.ได้ตรวจสอบข้อมูลจากพนักงานขับรถและพนักงานห้ามล้อ พบว่าทั้ง 2 คนไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ และในขณะผ่านจุดตัดดังกล่าว รถไฟมีความเร็วไม่เกิน 45กม./ชม. ซึ่งจุดเกิดเหตุจะมีรถไฟผ่านวันละ 4 ขบวนเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ จุดตัดดักล่าวเป็นทางลักผ่าน ต่อมาสำรวจแล้วพบว่ามามีรถใช้ทางมาก กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จึงได้จัดงบประมาณเพื่อทำทางผ่านเสมอระดับ มีเครื่องกั้นอัตโนมัติ และอยู่ระหว่างทดสอบและส่งมอบให้ ร.ฟ.ท. ซึ่งปกติจะทดสอบและส่งมอบใน 1 เดือน แต่ต้องขึ้นกับระบบอื่นที่ต้องทำงานร่วมกันด้วยว่าเสร็จพร้อมกันหรือไม่ เช่น เครื่องนับล้อ ซึ่งขณะนี้มีนโยบายให้เร่งส่งมอบงานระหว่าง ทช. และกรมทางหลวง (ทล.) ที่รับผิดชอบก่อสร้างจุดตัดทั้งแบบจุดตัดเสมอระดับ และทางยกระดับ

ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า จุดตัดรถไฟทั่วประเทศมีประมาณ 2,500 แห่ง โดยมีทางลักผ่านที่ไม่ได้รับอนุญาต 584 แห่ง ทางลักผ่านที่ได้รับอนุญาต 775 แห่ง ซึ่งเบื้องต้นจะมีป้ายเตือนทุกแห่ง เนื่องจากอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการติดเครื่องกั้นกึ่งอัตโนมัติ เครื่องกั้นอัตโนมัติ สัญญาณไฟสี ตามแผนจะดำเนินงานในปีงบประมาณ 58-60 รวมกว่า 1,000 ล้านบาท แต่เพื่อเร่งรัดงาน ร.ฟ.ท.จะปรับโดยนำจุดตัดที่เหลือประมาณ 160 แห่งซึ่งจะทำในปี 60 มาทำในปี 59 วงเงินประมาณ 500 ล้านบาทเศษ โดยจะใช้เกลี่ยจากงบเหลือจ่ายปี 59 มาดำเนินการ ซึ่งเท่ากับว่าภายในปี 59 หรือไม่เกินปี 60 จุดตัดทุกแห่งจะมีสัญญาณเตือนหรือเครื่องกั้นในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

นายวุฒิชาติ ยอมรับว่า หลังจากสำรวจทางลักผ่าน 584 แห่งแล้ว ต่อมาได้มีทางลักผ่านเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอความร่วมมือประชาชน โดยที่ผ่านมาหากตรวจพบทางลักผ่าน ร.ฟ.ท.จะนำหมอนไปขวางเพื่อปิดทาง แต่ก็ถูกประชาชนยกออก หรือจุดใดมีรั้วกั้นจะมีเจาะรั้ว เพื่อทำช่องลักผ่าน ซึ่งนอกจากเป็นอันตรายแล้วยังเป็นการทำลายทรัพย์สินราชการอีกด้วย ซึ่งได้ดำเนินการแจ้งความไว้หลายแห่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ร.ฟ.ท.ได้ทำประกันภัยประเภท 3 เพื่อคุ้มครองผู้โดยสาร กรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ส่วนตัวรถไฟที่เสียหาย จะต้องใช้งบประมาณประจำปีซ่อมแซม

"ตามหลักกฎจราจร หากรถยนต์จะวิ่งผ่านจุดตัดทางรถไฟ ควรจะต้องดูสัญญาณเตือนทั้งหมดและจอดรถดูก่อน หากรถบัสจอดรอดู 1 นาที จะไม่เกิดเหตุ ส่วนรถไฟหากจะผ่านจุดตัดถนน จะเปิดหวูดเสียงดังเตือนอยู่แล้ว เพราะระยะเบรกรถไฟ อย่างน้อย 500 เมตร - 1 กม. อย่างไรก็ตาม ในด้านมนุษยธรรม การรถไฟฯ ได้ลงไปดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บทุกรายแล้ว ส่วนความเสียหายต้องยึดตามพ.ร.บ.จราจร หากรถยนต์ผิด รถไฟจะต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายด้วย" ผู้ว่าการฯ ร.ฟ.ท.ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ