กรมควบคุมโรค ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรค หลังได้รับรายงานพบผู้ป่วยไวรัสซิกาชาวไทยเข้าไปทำงานในไต้หวัน

ข่าวทั่วไป Wednesday May 25, 2016 11:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิการายที่ 2 เมื่อวันที่ 21 พ.ค.59 โดยผู้ป่วยคนดังกล่าวเป็นชาวไทยที่เดินทางเข้าไปทำงานในไต้หวัน กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้ประสานไปยังศูนย์ป้องกันควบคุมโรคไต้หวันเพื่อตรวจสอบข้อมูล เบื้องต้นพบว่าขณะนี้ผู้ป่วยไม่มีอาการป่วยและได้เดินทางไปยังที่พักคนงานในไต้หวันแล้ว

ในส่วนของการดำเนินการควบคุมโรคในประเทศไทย ทันทีที่พบรายงานจากศูนย์ป้องกันควบคุมโรคไต้หวันผ่านทางเว็บไซต์ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้ส่งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทันที ในขณะนี้ เจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ในระหว่างการดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคตามมาตรการการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการตามมาตรการองค์การอนามัยโลกและกฎอนามัยระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด มีการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการทำให้สามารถตรวจหาการติดเชื้อไวรัสซิกาได้เองแล้ว มีการเตรียมความพร้อมด้านการดูแลรักษา มีการควบคุมแมลงพาหะนำโรคอย่างเข้มข้นทั่วประเทศ มีระบบเฝ้าระวังโรคทั้งด้านระบาดวิทยา กีฏวิทยา การติดตามภาวะพิการแต่กำเนิด และความผิดปกติทางระบบประสาท และเมื่อพบผู้ป่วยหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อของพื้นที่และของกรมควบคุมโรคจะดำเนินการควบคุมโรคทันทีอย่างเข้มข้น โดยมุ่งเน้นที่การค้นหาผู้ป่วย การกำจัดยุงพาหะ และการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังได้ดำเนินการมาตรการเชิงรุกโดยการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานกับหน่วยงานจัดหางานในประเทศไทย เพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกัน ควบคุมโรคในพื้นที่ที่อยู่ของผู้ป่วย

ประเทศไทยได้เริ่มเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกามาตั้งแต่ พ.ศ.2556 ภายหลังพบรายงานผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2555 หลังจากได้นำเลือดผู้ป่วย "ไข้ออกผื่นไม่ทราบสาเหตุ" ส่งไปตรวจที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา และจากนั้นยังคงพบผู้ป่วยประปราย การระบาดที่ผ่านมามักไม่รุนแรง และหลังจากดำเนินการควบคุมโรคอย่างเต็มที่ก็จะสามารถควบคุมโรคให้ยุติลงได้ในเวลาอันสั้น และในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ยกระดับการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสซิกาขึ้น โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที

สำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกามักมีอาการไม่รุนแรง แต่หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้ออาจส่งผลต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ทำเกิดภาวะสมองเล็กได้ แม้ปีนี้จะมีการพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นบ้างแต่ยังไม่นับเป็นการระบาดของโรคที่รุนแรงดังเช่นที่ปรากฎในประเทศแถบลาตินอเมริกา ในพ.ศ. 2559 มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาใน 9 จังหวัด ซึ่งขณะนี้มี 7 จังหวัดที่สามารถควบคุมโรคได้แล้ว ได้แก่ นนทบุรี นครราชสีมา พิษณุโลก กรุงเทพมหานคร สุโขทัย อุตรดิตถ์ และกาญจนบุรี ส่วนอีก 2 จังหวัดยังอยู่ในช่วงของการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นตามมาตรฐานทางระบาดวิทยา

นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาทั่วโลกนั้น นับตั้งแต่พ.ศ.2550 ถึงวันที่ 19 พ.ค.2559 มีรายงานพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 60 ประเทศ แพร่กระจายในหลายภูมิภาค ส่วนมากอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ และอเมริกากลาง ทั้งนี้ WHO จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่พบมีการติดเชื้อแต่ไม่มีรายงานการเกิดภาวะแทรกซ้อนในทารก ซึ่งจัดอยู่ในคนละกลุ่มกับประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างแพร่หลายและพบทารกโรคศีรษะเล็กเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งเป็นฤดูระบาดที่มีความเสี่ยงที่จะพบที่จะพบการระบาดได้สูงสุดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าโรคอื่น กรมควบคุมโรคจึงให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และหญิงในวัยเจริญพันธุ์ ดังนี้

1.กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย โรงเรียน และสถานที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการดำเนินตามมาตรการ 3 เก็บ “เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ" เพื่อป้องกัน 3 โรค 2.การป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยใช้ยาทากันยุง นอนในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด 3.หญิงตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุขทั่วไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ