หอการค้าฯ พร้อมร่วมมือแก้ปัญหาค้ามนุษย์ต่อเนื่อง หวังยกระดับประเทศไทยสู่มาตรฐาน

ข่าวทั่วไป Monday July 4, 2016 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ.2559 (Trafficking in Persons Report 2016) โดยปรับระดับประเทศไทยขึ้นเป็น "ระดับ 2 บัญชีที่ต้องจับตามมอง" (Tier 2 Watch List) ซึ่งในเรื่องการค้ามนุษย์นี้ รัฐบาลไทยโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหานี้มาโดยตลอด และจัดเรื่องดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ

พร้อมกันนี้ ในส่วนภาคเอกชนโดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด และผลักดันให้หอการค้าจังหวัด สมาคมการค้าที่เป็นสมาชิกทั่วประเทศ ดำเนินการร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังในทุกรูปแบบ ทำให้สหรัฐเห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหาของประเทศไทย

ทั้งนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย ขอขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐที่เชื่อมั่นในความพยายามแก้ปัญหาของไทยในทุกมิติ และทบทวนปรับระดับประเทศไทยขึ้น และเชื่อมั่นว่าในการดำเนินการที่มุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและจริงจังจะทำให้ปัญหาที่คั่งค้างได้บรรลุผ่านจนสามารถปรับลำดับได้ดีขึ้น

"ขอขอบคุณรัฐบาลไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือแก้ไขปัญหา และจะร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศ เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยสู่ประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐาน ทั้งด้านการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ และการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ต่อไป" นายพจน์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2559 (Trafficking in Persons Report 2016) จัดอันดับประเทศไทยอยู่ในระดับ 2 บัญชีที่ต้องจับตามอง หรือ Tier 2 Watch List โดยระบุว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการขจัดการค้ามนุษย์ แต่การดำเนินงานนั้นยังมิได้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดอย่างครบถ้วน ซึ่งในรายงาน TIP Report 2016 ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ชี้ถึงปัญหาของประเทศไทยทั้งในด้านการค้ามนุษย์ ด้านแรงงาน การค้าประเวณี และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ประเทศไทย ได้มีการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจิงจัง ทั้งด้านกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับ การบังคับใช้กฎหมาย การจัดการกระบวนการการดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งขั้นตอนและระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น การดูแลเหยื่อการค้ามนุษย์ แต่ยังมีปัญหาครอบคลุมอยู่ในหลายด้าน ดังนั้น กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ จึงเสนอข้อแนะนำประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาและยินดีร่วมแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์กับประเทศไทยอย่างเต็มที่

อนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จัดทำรายงานประจำปีเรื่องการค้ามนุษย์โดยประเมินสถานการณ์ และการดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 188 ประเทศ โดยเริ่มมีการจัดทำมาตั้งแต่ปี 2544


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ