สนง.สถิติ เผยอัตราว่างงานมิ.ย.59 เพิ่ม 1.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ระดับอุดมศึกษา-คน กทม.มากสุด

ข่าวทั่วไป Tuesday July 12, 2016 18:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรประจำเดือน มิ.ย.59 พบว่า จากจำนวนผู้มีงานทำ 38.17 ล้านคน (ชาย 20.77 ล้านคน และหญิง 17.40 ล้านคน) เป็นผู้ทำงานภาคเกษตรกรรม 12.56 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 32.9 ของผู้มีงานทำ (ชาย 7.26 ล้านคน และหญิง 5.30 ล้านคน) และทำงานนอกภาคเกษตรกรรม 25.61 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 67.1 ของผู้มีงานทำ (ชาย 13.51 ล้านคน และหญิง 12.10 ล้านคน) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 พบว่า ในภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานลดลง 2.5 แสนคน (จาก 12.81 ล้านคน เป็น 12.56 ล้านคน) ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในการปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ การปลูกข้าวเจ้า การปลูกอ้อย และการปลูกพริก แต่นอกภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 1.9 แสนคน (จาก 25.42 ล้านคน เป็น 25.61 ล้านคน) ในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ 2.5 แสนคน สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 1.5 แสนคน สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 8.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 4.0 หมื่นคน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 3.0 หมื่นคน และสาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 1.0 หมื่นคน

ส่วนสาขาที่ลดลงคือ สาขาการผลิต 3.5 แสนคน สาขาการบริหารราชการการป้องกันประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับ 6.0 หมื่นคน สาขาการกอสร้างและสาขาการศึกษาลดลงเท่าๆ กันประมาณ 2.0 หมื่นคน และสาขากิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยงการบริการซักรีดและซักแห้ง เป็นต้น 1.0 หมื่นคน และที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ

ในเดือนมิถุนายน 2559 มีผู้ว่างงาน 3.92 แสนคน (ชาย 2.08 แสนคน และหญิง 1.84 แสนคน) คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 (ชายร้อยละ 1.0 และหญิงร้อยละ 1.0) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 7.0 หมื่นคน เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 4.2 หมื่นคน ภาคใต้เพิ่มขึ้น 2.1 หมื่นคน ภาคกลางเพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นคน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น 5.0 พันคน ในขณะที่ภาคเหนือลดลง 1.1 หมื่นคน ถ้าพิจารณาอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 เป็นรายภาค พบว่า กรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานสูงที่สุดร้อยละ 1.6 รองลงมาคือภาคใต้ ร้อยละ 1.5 ภาคกลางร้อยละ 0.9 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 0.8 และภาคเหนือ ร้อยละ 0.6 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบอัตราการวางงานของแต่ละภาคกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า อัตราการว่างงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.8 เป็นร้อยละ 1.0 เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.8 เป็นร้อยละ 1.6 ภาคใต้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.1 เป็นร้อยละ 1.5 และภาคกลางเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.8 เป็นร้อยละ 0.9 ส่วนภาคเหนือลดลงจากร้อยละ 0.8 เป็นร้อยละ 0.6 สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนืออัตราการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ พบว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงที่สุดร้อยละ 2.2 รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าร้อยละ 1.4 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 1.0 การศึกษาอื่นๆ (หลักสูตรที่ไม่ได้วุฒิการศึกษา การศึกษาที่เทียบชั้นไม่ได้ และไม่ทราบระดับการศึกษา) ร้อยละ 0.8 ระดับประถมศึกษาร้อยละ 0.5 และผู้ว่างงานที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่า ประถมศึกษาร้อยละ 0.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 2.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.1 เป็นร้อยละ 1.4 และระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.8 เป็นร้อยละ 1.0 ในขณะที่ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาลดลงจากร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 0.2 สำหรับระดับประถมศึกษาอัตราการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ