(เพิ่มเติม) รัฐบาล เฝ้าระวังระดับน้ำ 24 ชม.พร้อมเร่งผันน้ำลดความเสี่ยงท่วมพื้นที่เกษตร-ช่วยผู้ประสบภัย

ข่าวทั่วไป Friday September 16, 2016 10:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังจากหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ร่วมกันเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตลอด 24 ชม. ตามนโยบายของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายหลังทราบข้อมูลว่าพายุราอีจะพัดเข้าสู่ประเทศไทยนั้น ทำให้แต่ละจังหวัดสามารถรับมือกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักได้ในระดับหนึ่ง โดยการแจ้งเตือนประชาชน และเร่งผันน้ำเข้าคลองฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำสายหลัก พร้อมทั้งระดมสูบน้ำที่ท่วมขังในแต่ละพื้นที่ออกโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกหนักในภาคเหนือส่วนหนึ่งไหลลงเขื่อน และอีกส่วนหนึ่งไหลลงแม่น้ำยม ซึ่งมีปริมาณค่อนข้างมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามบังคับน้ำให้ไหลลงคลองสาขาหรือพื้นที่รับน้ำที่พี่น้องเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และต้องการน้ำไว้ใช้เพื่อหาปลาหรือทำนารอบหน้า และเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่อื่นที่กำลังเก็บเกี่ยวข้าวอยู่ โดยเฉพาะที่ จ.สุโขทัย ซึ่งมีความเสี่ยงมากที่สุด

“สำหรับจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ท่านนายกฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่และรวดเร็ว ทั้งการระบายน้ำ มอบสิ่งของจำเป็น และฟื้นฟูความเสียหาย ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงระยะสั้นๆ เพราะอิทธิพลของพายุราอี และคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงเย็นวันนี้ หลังจากที่พายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศเมียนมาแล้ว"

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมการวางแผนเผชิญเหตุ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูมรสุม ซึ่งจะมีฝนตกหนักราวปลายเดือน ก.ย.ถึง ต.ค.ของทุกปีไว้แล้ว

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลจากพายุราอีที่อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น ซึ่งเคลื่อนตัวผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากและดินสไลด์ใน 8 จังหวัด รวม 22 อำเภอ 80 ตำบล แยกเป็น จ.เพชรบูรณ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ 24 ตำบล ได้แก่ อำเภอหล่มเก่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก และอำเภอ ชนแดน

จ.เลย น้ำท่วมในอำเภอด่านซ้าย บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 153 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 1,500 ไร่ บ่อปลา จำนวน 40 บ่อ สถานที่ราชการ จำนวน 3 แห่ง ถนน 9 สาย อำเภอภูกระดึง น้ำเอ่อล้นสะพาน ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลศรีฐาน ไม่สามารถสัญจรได้ ตำบลภูกระดึง บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 44 หลังคาเรือน

จ.ตาก เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามเงา อำเภอเมืองตาก และอำเภอแม่สอด ประชาชนได้รับผลกระทบ 112 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 850 ไร่

จ.ลำพูน น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอแม่ทา อำเภอป่าซาง สะพานได้รับความเสียหาย 1 แห่ง ถนน 3 แห่ง ฝาย 1 แห่ง อำเภอบ้านโฮ่ง ประชาชนได้รับผลกระทบ 105 หลังคาเรือน

จ.ลำปาง เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอห้างฉัตร อำเภอเกาะคา และอำเภอเมืองลำปาง

จ.พิษณุโลก น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอเนินมะปราง อำเภอวัดโบสถ์ และอำเภอวังทองประชาชนได้รับผลกระทบ 2,158 ครัวเรือน โรงเรียนเสียหาย 1 แห่ง วัด 1 แห่ง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 17,082 ไร่ บ่อปลา จำนวน 70 บ่อ

จ.อุตรดิตถ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอลับแล มีน้ำท่วมขังภายในหมู่บ้านและพื้นที่การเกษตร

จ.สุโขทัย น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเมืองสุโขทัย ประชาชนได้รับผลกระทบ 500 ครัวเรือน อพยพ 4 ครัวเรือน

ปัจจุบันสถานการณ์ในภาพรวมทั้ง 8 จังหวัด ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร โดยที่จังหวัดเพชรบูรณ์ยังคงมีน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลเมืองหล่มสักและพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำป่าสัก 11 ตำบล ทั้งนี้ คาดว่ามวลน้ำจากอำเภอหล่มสักจะไหลหลากตามแม่น้ำป่าสักเข้าพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ในวันที่ 17 ก.ย.59 ซึ่งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบูรณ์ได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ว ขณะที่จังหวัดเลยระดับน้ำทรงตัว เนื่องจากยังมีน้ำจากจังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ไหลลงมาในพื้นที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหารและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ