รมว.สาธารณสุขอาเซียน 10 ประเทศประชุมทางไกลผ่านระบบวีดีโอร่วมแก้ไขโรคซิก้า

ข่าวทั่วไป Monday September 19, 2016 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมวาระพิเศษทางไกลผ่านระบบวีดิโอ โดยประเทศไทยเป็นแม่ข่ายในการประชุมทางไกลผ่านระบบวีดีโอ เพื่อหาแนวทางความร่วมมือของการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิก้าในภูมิภาคอาเซียน ร่วมกับรมว.สาธารณสุขประเทศบรูไน ในฐานะประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแห่งอาเซียน โดยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน 10 ประเทศร่วมประชุม ได้แก่ มาเลเซีย พม่า กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไนดารุส-ซาลาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย และองค์การอนามัยโลกสำนักงานใหญ่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า เพื่อเป็นการหาแนวทางความร่วมมือเตรียมพร้อมและสร้างความเข้มแข็งรับมือกับโรคไวรัสซิก้าในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีแนวทางความร่วมมือ 5 ข้อ คือ 1.ยกระดับกลไกเฝ้าระวังในประเทศตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก 2.การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศภายใต้กลไกกฎอนามัยระหว่างประเทศ 3.เพิ่มประสิทธิภาพกลไกเฝ้าระวัง และตอบโต้โรคอุบัติใหม่ภายใต้กลไกอาเซียน 4.เพิ่มศักยภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการควบคุมลูกยุงพาหะนำโรค 5.แลกเปลี่ยนความรู้ การวิจัย และการปฏิบัติ ผ่านกลไกอาเซียนและความร่วมมืออื่นๆ

“ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของยุงลายบ้าน ที่เป็นพาหะหลายโรคด้วยกัน เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันละควบคุมโรคดังกล่าวคือ การกำจัดยุงพาหะนำโรค ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ร่วมกับการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ”นพ.ปิยะสกล กล่าว

ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะสำคัญ อาการป่วยที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ มีผื่น ปวดกล้ามเนื้อ ตาแดง ปวดศีรษะ ส่วนใหญ่หายเองภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนน้อยที่มีอาการเส้นประสาทอักเสบ และมีหลักฐานพบว่า การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกแรกเกิดมีศีรษะเล็กได้

สำหรับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิก้าทั่วโลก รวมทั้งภูมิภาคอาเซียน มีรายงานการพบผู้ป่วยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ภาวะแทรกซ้อนเด็กทารกแรกเกิดศีรษะเล็กผิดปกติจากโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขที่นานาชาติจะต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยพบว่าโรคนี้มีความความเชื่อมโยงกับทารกแรกเกิดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิกามีศีรษะเล็กหรือสมองเล็ก(microcephaly) และอาจเชื่อมโยงกับอาการเส้นประสาทอักเสบ(GBS-Guillain-Barré syndrome) แม้ว่าโรคติดเชื้อไวรัสซิกาจะทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย และสามารถหายได้เอง ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนได้มีการดำเนินการมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่หลากหลาย ทั้งการควบคุมแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย การสื่อสารสาธารณะ และมาตรการป้องกันควบคุมโรคอื่นๆ แต่จากประสบการณ์การป้องกันควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่ออุบัติซ้ำที่ผ่านมา พบว่าผลกระทบของโรคเหล่านี้ ไม่เพียงทำให้เกิดจากเจ็บป่วย การพิการ หรือ การเสียชีวิต แต่ยังผลกระทบวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความตื่นตระหนกของประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ