สธ.จัดทีมแพทย์บริการประชาชนร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ พร้อมแนะวิธีดูแลจิตใจด้วยตนเอง

ข่าวทั่วไป Sunday October 16, 2016 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน ด้านวิกฤตสุขภาพจิต สรุปผลการดำเนินงานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนทั้งด้านร่างกายและจิตใจในช่วงระยะวิกฤตและฉุกเฉิน 72 ชั่วโมงแรก โดยในวันที่ 2 ของการปฏิบัติงาน (15 ตุลาคม 2559) มีผลการปฏิบัติงานดังนี้

ในส่วนกลาง ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัย กองทัพ ตำรวจและมูลนิธิ จัดจุดบริการปฐมพยาบาลและรถพยาบาลฉุกเฉิน 9 จุด ได้แก่โรงแรมรัตนโกสินทร์ สนามหลวงฝั่งเชิงสะพานปิ่นเกล้า สนามหลวงที่กองอำนวยการกรุงเทพมหานคร ประตูวิเศษชัยศรี ท่าช้าง ข้างกระทรวงกลาโหม ศาลหลักเมือง สนามหลวงฝั่งพระบรมมหาราชวัง และศาลาสหทัยสมาคม โดยมีประชาชนที่เข้าร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพเข้ารับบริการ 7,682 คน ร้อยละ 99 ขอรับยาดม แอมโมเนีย วัดความดันโลหิต ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ทำแผล รับยาที่เหลือเป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มีผื่นคัน ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่ได้รับการดูแลแล้วอาการดีขึ้น มีส่งต่อโรงพยาบาล 8 คน ด้วยอาการ ความดันโลหิตสูง แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย โรคลมชัก ถูกสัตว์กัด เป็นต้น

ด้านจิตใจ กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมเยียวยาด้านจิตใจ 8 ทีม เพื่อดูแลจิตใจประชาชน โดยให้บริการปฐมพยาบาลทางใจ 339 คน ตรวจรักษาและให้ยา 4 คน ให้คำปรึกษา/ให้การสนับสนุนทางใจ/ฝึกการหายใจ 54 คน หลังให้คำปรึกษาดูแลทุกคนมีอาการดีขึ้น

ในส่วนภูมิภาค มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการทุกจังหวัด ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ 928 ทีม ทีมเยียวยาด้านจิตใจ 80 ทีม โดยมีผู้ป่วยโรคทางกายเข้ารับบริการ 18 คน

ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนสามารถดูแลสุขภาพจิตตนเองและบุคคลใกล้ชิดได้ในภาวะที่รู้สึกสูญเสียทั่วประเทศพร้อมกันเช่นนี้ ดังนี้ 1.แปลงความโศกเศร้าเป็นพลังกิจกรรม โดยเข้าร่วมกิจกรรมของรัฐ ทุกศาสนา และชุมชนท้องถิ่น ร่วมแสดงความรู้สึกที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ มีส่วนร่วมในการทำสิ่งที่ดีงาม ทั้งการบริจาคโลหิต บริจาคทรัพย์ จิตอาสา รวมทั้งร่วมสืบสานปณิธานของพระองค์ท่าน เช่น แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการน้ำ โครงการตามพระราชดำริต่างๆ เป็นต้น 2.ดูแลกันและกัน โดยเฉพาะในคนใกล้ชิดและผู้ที่อาจจะได้รับความกระทบทางจิตใจสูง เช่น ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็กที่อาจไม่เข้าใจกับปฏิกิริยาการสูญเสีย รวมถึงผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต สำหรับผู้ที่รู้สึกเสียใจมาก ร้องไห้ตลอดเวลา เครียดมาก นอนไม่หลับ เป็นต้น ขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ฟรี หรือปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้าน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ