ไทยเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมวิชาการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เตรียมความพร้อมและตอบโต้ภัยพิบัติในระดับสากล

ข่าวทั่วไป Monday November 7, 2016 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการบอร์ดการประชุมวิชาการเวชศาสตร์ภัยพิบัติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการเวชศาสตร์ภัยพิบัติฯ เป็นครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 6-8 พ.ย.โดยความร่วมมือของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนวมินทร์ราชาธิราชและ The Board APCDM ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักดับเพลิง เจ้าหน้าที่กู้ชีพ ทหาร นักวิชาการ นักวิจัย ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติ ทั้งจากในและต่างประเทศกว่า 400 คน เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้อีกด้วย

สำหรับTheme ของจัดประชุม คือ Disaster Medicine ;Prepare Together,Response Together โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติทั้งจากในและต่างประเทศ 33 คน มี 24 หัวข้อการบรรยาย และมีผลงานวิชาการที่ได้รับการพิจารณาให้นำเสนอ จำนวน 70 เรื่อง

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมนี้นับเป็นครั้งแรกจัดในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสอันดีที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากหน่วยงานต่างๆในประเทศจะได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้,ศึกษาหาความรู้จากประเทศต่างๆ เพื่อนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาหน่วยงาน อันจะส่งผลให้ระบบบริหารจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติของไทยพัฒนารุดหน้าไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้รับมอบหมายจากที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขของอาเซียนให้เป็นแกนนำในการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติให้แก่ทุกประเทศในภูมิภาค รวมทั้งพัฒนาให้เกิดระบบการประสานงานด้านเวชศาสตร์ภัยพิบัติระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีประสิทธิภาพ

"ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติสูงที่สุดในโลก และมีผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้น 3 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรง เช่น คลื่นยักษ์สึนามิ แผ่นดินไหว พายุใต้ฝุ่นและน้ำท่วม นอกจากนั้นยังมีภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น การก่อการร้าย วางระเบิด เหล่านี้ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สิน การเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการทางการแพทย์สาธารณสุขในการจัดการภัยพิบัติในภูมิภาค จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง"นพ.ปิยะสกล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ