พพ.เปิด 6 แผนงานส่งเสริมใช้พลังงานชีวมวล หวังลดพึ่งพาพลังงานจากตปท.

ข่าวทั่วไป Thursday November 17, 2016 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ในการกำหนดแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) พ.ศ.2558-2579 โดยมุ่งเน้นพัฒนาพลังงานทดแทน มาใช้ให้มากที่สุดทดแทนการนำเข้าน้ำมันได้ในอนาคต เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวลด้วย

ทั้งนี้ พพ.ได้ดำเนินการศึกษา พัฒนา และสาธิตตลอดจนมีการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม ให้สนใจปรับเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวลเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ ได้แก่ 1.ศึกษา และวิจัย เพื่อให้ได้ความรู้ทางวิชาการสำหรับใช้เป็นแหล่งข้อมูลแก่ผู้สนใจ เช่นการศึกษาพัฒนาระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทย การศึกษาการใช้ชีวมวลทางปาล์มและรากไม้ยางพาราเพื่อผลิตพลังงานทดแทน เป็นต้น

2.ศึกษาและวิจัยการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเช่น การผลิต และจัดทำมาตรฐานเชื้อเพลิงแท่งอัดเม็ด

3. จัดทำโครงการสาธิตเพื่อเป็นต้นแบบแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่สนใจจะเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เช่น โครงการสาธิตการใช้เชื้อเพลิงอัดเม็ดในหม้อน้ำขนาดเล็กเพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคอุตสาหกรรม

4. มอบทุนสนับสนุนโครงการ เพื่อช่วยเหลือและกระตุ้นให้มีการนำชีวมวลมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น เช่นโครงการสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนหัวเผาหม้อไอน้ำเป็นหัวเผาเชื้อเพลิงชีวมวลไม่น้อยกว่า 100 แห่ง โดยให้การสนับสนุนแห่งละไม่เกิน 2,000,000 บาท/แห่ง

5.ให้การสนับสนุนและส่งเสริมอุปกรณ์ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงผลิตพลังงานจากชีวมวลโดยนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชุมชน ได้แก่ เตาย่างบาร์บีคิว เตามหาเศรษฐี เตาชีวมวลแบบ 2 กระทะ เตาเผาถ่าน 200 ลิตร แบบนอนและแบบตั้ง เตาแก๊สชีวมวล เตาเคี่ยวน้ำตาลโตนด และ 6.จัดฝึกอบรมบุคลากรด้านพลังงานทดแทนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

นายประพนธ์ กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเป็นส่วนหนึ่งของแผน AEDP ที่กำหนดการผลิตไว้ 5,570 เมกะวัตต์ เมื่อสิ้นสุดแผนปี 2579 และใช้ชีวมวลในการผลิตความร้อนจำนวน 22,100 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งขณะนี้มีการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลแล้วจำนวน 2,800 เมกะวัตต์ และมีการใช้ชีวมวลในการผลิตความร้อนปีละประมาณ 6,000 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ

โดยปัจจุบันได้มีการนำเศษวัสดุเหลือจากการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแกลบ ชานอ้อย เศษไม้ กะลาปาล์ม กะลามะพร้าว เหง้ามันสำปะหลัง พร้อมกับส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อปลูกไม้โตเร็วและผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น ไม้สับ (Woodchips) หรือ เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Biomass pellets) เพื่อส่งขายให้กับผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเป็นการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศและเพิ่มการจ้างงานการสร้างรายได้ให้กับประชาชน

"พลังงานจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีสายพระเนตรอันกว้างไกลพระองค์ทรงคาดการณ์ในอนาคตว่าจะเกิดปัญหาด้านพลังงานอย่างมากหากประเทศไทยยังคงนำเข้าพลังงานเป็นหลักทรงมีพระราชดำริว่าพลังงานอยู่รอบตัวเราทั้งลม แสงอาทิตย์ น้ำ พืชหรือแม้แต่ของเหลือทิ้ง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านพลังงานจึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย"นายประพนธ์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ