รัฐเร่งผลักดัน พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

ข่าวทั่วไป Thursday November 24, 2016 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยเตรียมเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเพิ่มความคุ้มครองสุขภาพให้แรงงานนอกระบบ เนื่องจากประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะเข้าถึงสถานบริการสุขภาพของรัฐ โดยพบแรงงานนอกระบบถูกโรครุมเร้าราว 4 แสนราย

"แรงงานนอกระบบยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเข้าไม่ถึงการบริการของรัฐ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบในพื้นที่ชนบท ซึ่งปัญหาใหญ่ๆ ยังคงเป็นเรื่องของสุรา บุหรี่ ความเครียด และการไม่ออกกำลังกาย...กำลังผลักดันพระราชบัญญัติโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยร่างเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยกฏหมายนี้จะทำให้แรงงานนอกระบบได้รับความคุ้มครองเรื่องสุขภาพอนามัยได้ดีขึ้น" นพ.สุเทพ กล่าว

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามทำงานด้านนี้ โดยขับเคลื่อนความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเป็นแผน Safety Thailand บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการส่งเสริมการป้องกันโรคกับแรงงานนอกระบบ โดยได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อมีแผนการทำงานร่วมกันในเรื่องการส่งเสริมและการป้องกัน

"การทำงานที่ผ่านมาถือว่ามีความก้าวหน้าไปมากในเรื่องนี้ มีกลุ่มแรงงานเป้าหมายสำคัณที่จะดำเนินการ เช่น แท๊กซี่ ที่มีปัญหาในเรื่องของวัณโรค อาจจะเริ่มสร้างระบบการคัดกรองจากการต่อใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งในเรื่องนี้กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการในเรื่องของการคัดกรองโรคให้ดีขึ้นได้อย่างไร" นพ.สุเทพ กล่าว

ด้าน นพ.ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์โรคจากการทำงานของแรงงานนอกระบบพบว่าประเทศไทยมีประชากรวัยทำงาน 38.3 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 21.4 ล้านคน ซึ่งในปีนี้สามารถพัฒนาหน่วยปฐมภูมิเพื่อคัดกรองข้อมูลความเสี่ยงและการเจ็บป่วยจากการทำงานได้มั้งหมด 4,600 หน่วย จากเป้าหมายที่ต้องดำเนินการทั้งหมด 9,800 หน่วย นอกจากนี้สามารถคัดกรองสุขภาพของคนงานที่ทำงานนอกระบบได้ตามเป้าหมายคือ 4.2 แสนราย จากจำนวนทั้งหมด 21.4 ล้านคน

โดยผลจากการคัดกรองพบว่า แรงงานนอกระบบยังเผชิญต่อปัญหาโรคไม่ติดต่อ และมีความเสี่ยงในอัตราที่น่าเป็นห่วง โดยพบว่า กลุ่มอาชีพเกษตรกร มีผลตรวจเลือกที่ปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูงร้อยละ 36.7 กลุ่มคนขับแท๊กซี่ มีปัญหาเรื่องของโรควัณโรค ในอัตราเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง คนงานแกะสลักหิน มีปัญหาเรื่องของการได้ยิน ร้อยละ 96 และมีผังผืดในปอดร้อยละ 100 คนงานเย็บผ้าตามบ้าน เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นฝ้ายในระดับปานกลางถึงสูงร้อยละ 52 คนงานเก็บขยะทั่วไป มีปัญหาสุขภาพเสี่ยงต่อโรคติดต่อ ร้อยละ 26.42 ขณะที่คนเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์เสี่ยงต่อสารเคมีโลหะหนักปนเปื้อนสูงร้อยละ 66.05

นพ.ปรีชา กล่าวว่า ปัญหาและข้อจำกัดในการดูแลสุขภาพของแรงงานนอกระบบ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ไม่มีนายจ้าง จึงไม่มีสวัสดิการ ส่วนงบประมาณของบัตรทองก็ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของการดูแลแรงงานกลุ่มนี้ และไม่มีความรู้ในเรื่องการป้องกันอันตรายจากการทำงาน ทำให้แรงงานเหล่านี้ เข้าไม่ถึงการดูแลสุขภาพ อาชีวอนามัย

ขณะที่นางอรพิน วิมลภูษิต ผู้จัดการโครงการพัฒนานโยบายและกลไกการเข้าถึงอาชีวอนามัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ผลักดันให้เกิดการออมตามมาตรา 44 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม แต่พบว่าผู้ที่เข้ามาสมัครจำนวนมากคือผู้สูงอายุ และก็ลาออกไปขณะที่วัยทำงานยังสมัครไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม มีความก้าวหน้าในอีกหลายด้านที่ทำให้แรงงานนอกระบบที่ไม่มีเจ้าภาพในการดูแลเริ่มมีระบบในการเข้ามาดูแลมากขึ้น โดยกระทรวงแรงงานมีแผนกที่เรียกว่าคุ้มครองแรงงานนอกระบบและมียุทธศาสตร์ และแผนงานร่วมกันในเรื่องการส่งเสริมป้องกันสุขภาพแรงงานนอกระบบ โดยขณะนี้มีแผนส่งเสริมร่วมกันเป็นฉบับที่ 2 แล้วจึงเชื่อว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบเพื่อการคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ