นิด้าโพล ปชช.หนุนให้มีโทษประหารชีวิตต่อไป ยันไม่ควรลดโทษคดีร้ายแรง

ข่าวทั่วไป Sunday January 15, 2017 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "โทษประหารชีวิต" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9 - 11 ม.ค.60 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทบทวนโทษประหารชีวิตของผู้กระทำผิดคดีต่างๆ ในประเทศไทย

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ "โทษประหารชีวิต" ว่าควรมีต่อไปหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.12 ระบุว่า ควรมีโทษประหารชีวิตต่อไป ขณะที่ ร้อยละ 8.00 ระบุว่า ไม่ควรมีโทษประหารชีวิตต่อไป และร้อยละ 4.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการนำ "โทษประหารชีวิต" มาใช้โดยไม่มีการลดโทษ ในคดีร้ายแรง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.32 ระบุว่า ควรมีการนำ "โทษประหารชีวิต" มาใช้โดยไม่มีการลดโทษในคดีร้ายแรง เพราะการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยยังอ่อนมาก ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่มักจะไม่หลาบจำ เมื่อมีโอกาสลดหย่อนโทษก็จะออกมากระทำผิดซ้ำอีก ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือได้รับความเสียหาย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ต้องบังคับใช้กฎหมายบทลงโทษประหารชีวิตให้เด็ดขาด โดยเฉพาะในคดีร้ายแรง เช่น ฆ่าผู้อื่น เพื่อเป็นบทเรียนให้กับคนอื่นต่อไป และน่าจะช่วยลดคดีการก่ออาชญากรรมไปด้วย

ขณะที่ร้อยละ 11.20 ระบุว่า ไม่ควร เพราะควรให้โอกาสสำหรับผู้ที่กระทำผิด บางคนอาจจะทำเพราะเหตุบันดาลโทสะ หรือไม่ได้เจตนา และถ้าหากเคยเป็นผู้ที่ทำความดี ให้การเป็นประโยชน์และสำนึกได้ ก็สมควรได้รับการลดโทษ ควรให้โอกาสแก้ตัวและกลับตัวกลับใจ และในบางครั้งก็เคยมีการตัดสินคดีผิดพลาดมาแล้ว แต่ถ้ากระทำผิดซ้ำอีกก็ไม่ควรได้รับการลดโทษ ต้องดูเป็นรายกรณีไป และร้อยละ 2.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อคดีที่ผู้กระทำผิดสมควรได้รับโทษประหารชีวิต มากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 56.57 ระบุว่า เป็นคดีฆ่าข่มขืน รองลงมา ร้อยละ 22.04 ระบุว่า เป็นการกระทำผิดซ้ำในคดีร้ายแรง ร้อยละ 10.65 ระบุว่า เป็นคดีฆ่าคนตายโดยเจตนา ร้อยละ 3.12 ระบุว่า เป็นคดียาเสพติด ร้อยละ 2.48 ระบุว่า เป็นคดีปล้นชิงทรัพย์แล้วฆ่า ร้อยละ 1.47 ระบุว่า เป็นคดีทำร้ายผู้อื่นจนเสียชีวิต ร้อยละ 1.10 ระบุว่า เป็นคดีทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 1.47 ระบุอื่นๆ ได้แก่ คดีก่อการร้าย,คดีทำร้ายร่างกายอุกฉกรรจ์,การข่มขืน,และขึ้นอยู่กับรูปแบบคดีและดุลยพินิจของศาล และร้อยละ 1.10 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเพิ่มโทษผู้ที่กระทำผิดซ้ำในคดีร้ายแรง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.40 ระบุว่า ควรมีการเพิ่มโทษผู้ที่กระทำผิดซ้ำในคดีร้ายแรง เพราะ กังวลว่าถ้ามีการปล่อยตัวออกมาก็จะต้องกระทำผิดซ้ำอีกครั้ง ผู้ที่กระทำผิดไม่ได้เกรงกลัวกฎหมาย ไม่มีความเข็ดหลาบจำ ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด และการกระทำผิดซ้ำถือเป็นเรื่องที่ไม่น่าให้อภัย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับโอกาส แต่ยังกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก ถือว่าเป็นการเจตนา และไม่ควรให้ออกมาอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ผู้บริสุทธิ์จะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่ออาชญากรซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ขณะที่ร้อยละ 4.56 ระบุว่า ไม่ควร เพราะมีบทลงโทษสูงสุดที่เป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การฆ่าคนตายโทษสูงสุดคือประหารชีวิต และต้องบังคับใช้ให้เด็ดขาดตั้งแต่ครั้งแรก ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องดูเป็นรายกรณี เช่น ว่าเป็นการเจตนาหรือไม่อย่างไร และต้องคำนึงถึงด้านสิทธิมนุษยชนด้วยเนื่องจากเป็นมนุษย์เหมือนกัน ควรให้รัฐบาลจัดหางาน การฝึกอาชีพให้มีงานทำ เพื่อจะได้ไม่หันกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ