กรมชลฯ แจงค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาพุ่งสูงขึ้น ยันไม่กระทบการผลิตน้ำประปา

ข่าวทั่วไป Thursday February 2, 2017 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นเร็วกว่าปกติว่า โดยสภาพทั่วไปของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตั้งแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาจนถึงบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า ที่มีค่าความเค็มสูงเกิน 1.5 กรัมต่อลิตร จะมีค่าความเค็มสูงเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีอัตราการไหลไม่มากนัก จากการตรวจวัดค่าความเค็มที่สถานีตรวจวัดที่โรงพยาบาลศิริราช พบว่าในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงของเดือนมกราคม 2560 มีค่าความเค็มสูงสุด 1.50 กรัมต่อลิตร ขณะที่ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงของเดือนมกราคม ปี 2559 มีค่าความเค็มสูงสุดถึง 3.29 กรัมต่อลิตร มากกว่าปี 2560 กว่า 2 เท่า

ส่วนที่มีความกังวลว่าน้ำเค็มจะเข้าไปทำให้พืชต่างๆเสียหายนั้น ในช่วงฤดูแล้งทุกปี ประตูระบายน้ำตามคลองต่างๆทุกคลอง ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำไปจนถึงจังหวัดปทุมธานี จะปิดประตูระบายน้ำเพื่อกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปทำความเสียหายแก่พืชต่างๆได้

อย่างไรก็ตาม การควบคุมความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา จะอยู่ที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล ต.สำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี โดยควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่ 0.25 กรัมต่อลิตร(น้ำที่ใช้ในการผลิตประปามีค่าความเค็มได้ไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) ปัจจุบัน(1 ก.พ. 60) วัดค่าความเค็มในบริเวณดังกล่าวได้ 0.18 กรัมต่อลิตร ไม่เกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่กำหนด จึงไม่มีผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาแต่อย่างใด

กรมชลประทาน ได้มีมาตรการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล ไม่ให้สูงขึ้นจนเกินค่ามาตรฐานการผลิตน้ำประปา โดยจะควบคุมให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณอ.บางไทร ในอัตรา 80 – 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ค่าความเค็มบริเวณปากคลองสำแลไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานในการผลิตน้ำประปา โดยที่ผ่านมาในช่วงเดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน บริเวณอ.บางไทร มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 91 – 117 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นไปตามเกณฑ์ที่กรมชลประทานได้กำหนดไว้

อนึ่ง กรมชลประทาน ได้มีการตรวจวัดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน เป็นประจำทุกวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลค่าความเค็มไปวิเคราะห์ ประกอบการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพื่อให้ระบบผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน และได้รับความความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคและทุกภาคส่วน ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ