กรมควบคุมโรค เข้มมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคเมอร์สต่อเนื่อง หลังพบผู้ป่วยมากในช่วงมี.ค.

ข่าวทั่วไป Wednesday February 8, 2017 14:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ของทุกปีจะมีผู้แสวงบุญเดินทางไปประกอบศาสนกิจ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นจำนวนมาก ซึ่งการรวมตัวกันของคนหมู่มากอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อได้ โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ดังนั้นชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปร่วมพิธีควรตระหนักถึงการดูแลสุขภาพตนเองเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกรายงานข้อมูลโรคเมอร์ส พบว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 จนถึงวันที่ 26 มกราคม 2560 ทั่วโลกมีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 1,888 ราย เสียชีวิต 670 ราย จาก 27 ประเทศ โดยเดือนที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือเดือนมีนาคม และประเทศที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ ซาอุดิอาระเบีย สำหรับประเทศไทย มีรายงานพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางจำนวนทั้งสิ้น 3 ราย ในปี 2558-2559 โดยผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการรักษาในห้องแยกตามมาตรฐานจนหายเป็นปกติ และได้เดินทางกลับประเทศแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีรายงานพบผู้ป่วยโรคเมอร์สในประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงยังมีความเสี่ยงจากการที่มีผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศ ทั้งจากการเดินทางท่องเที่ยว เดินทางเพื่อประกอบธุรกิจ และเดินทางไปแสวงบุญ จึงต้องมีการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น ดังนั้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเมอร์สในประเทศ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการตามมาตรการแนวทางการเฝ้าระวังป้องกันโรคใน 3 ส่วน คือ ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ โรงพยาบาล และในชุมชน โดยเฉพาะในด่านควบคุมโรคได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในช่องทางเข้าออกประเทศจัดพื้นที่คัดกรองผู้เดินทาง ในกรณีที่พบผู้เดินทางสงสัยป่วย จะแยกผู้เดินทางและนำส่งโรงพยาบาลต่อไป

จากข้อมูลพบว่ากลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรงได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ ผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของโรค ด้านคำแนะนำสำหรับผู้เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรค ควรปฏิบัติ ดังนี้ 1.หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานพยาบาลในช่วงที่มีการระบาดของโรค 2.หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่มีอาการไอหรือจาม 3.หลีกเลี่ยงการเข้าไปหรือสัมผัสฟาร์มสัตว์หรือสัตว์ป่าต่าง ๆ หรือดื่มน้ำนมดิบโดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะน้ำนมอูฐซึ่งอาจเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อได้ 4.ปฏิบัติตามสุขอนามัยกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำสบู่ 5.ถ้ามีอาการไข้ไอมีน้ำมูกเจ็บคอควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับบุคคลอื่นเพื่อลดการแพร่ เมื่อไอหรือจามควรใช้กระดาษชำระปิดปากและจมูกทุกครั้ง และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

ที่สำคัญ หลังจากกลับจากการเดินทาง หากภายใน 14 วัน มีอาการไข้ไอ เจ็บคอ หรือมีน้ำมูก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที หรือโทร 1669 พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่สงสัยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปแสวงบุญ(อุมเราะห์) ก่อนเดินทางควรเตรียมความพร้อมของร่างกาย โดยกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และเตรียมหน้ากากอนามัยติดตัวไปด้วยระหว่างอยู่ต่างประเทศ


แท็ก โรคติดต่อ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ