สศช.มองอัตราว่างงานแนวโน้มเพิ่ม แนะจับตาการปรับตัวของตลาดแรงงานเข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0

ข่าวทั่วไป Monday March 6, 2017 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ด้านแรงงานในไตรมาส 4 พบว่า มีอัตราการว่างงาน 0.97% ขณะที่ทั้งปี 59 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.99% โดยการจ้างงานโดยรวม ลดลง 0.9% ซึ่งเป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ลดลง 4.3% ในขณะที่การจ้างงานออกภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น 0.8% ทั้งนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในภาคโรงแรม ภัตตาคาร, การก่อสร้าง และค้าส่ง-ค้าปลีก ส่วนรายได้ของแรงงานในปี 59 พบว่าค่าจ้างแรงงานรวมเพิ่มขึ้น 1.8%

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา มีการดำเนินงานและความก้าวหน้าทางด้านสังคมในประเด็นสำคัญ คือ การพัฒนาคุณภาพคน ดำเนินการพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้ประชาชน แก้ไขปัญหาหนี้สิน พัฒนาการศึกษาและเรียนรู้ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การสร้างความมั่นคงทางสังคม ดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเข้มข้น ส่งเสริมการออมเพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้หลังเกษียณอายุ สร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ตลอดจนจัดสวัสดิการให้แก่คนยากจน

โดยด้านคุณภาพคนนั้น ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมอาชีพและการสร้างรายได้ ยกระดับอาชีพและรายได้ให้แก่แรงงานมีฝีมือโดยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและกำหนดให้มีการเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงงานใน 5 อุตสาหกรรม 20 สาขา ประกอบด้วย กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 4 สาขา กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 4 สาขา กลุ่มยานยนต์ 4 สาขา กลุ่มโลจิสติกส์ 4 สาขา และกลุ่มอุตสาหกรรม อัญมณี 4 สาขา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาศักยภาพตนเองและได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นอย่างเป็นธรรม

2.การแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยการเปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจรวมทั้งเพิ่มช่องทางให้ประชาชนรายย่อยที่มีความจำเป็นกู้ยืมผ่านสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และเห็นชอบร่างแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560-2564 เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนที่ชัดเจน และดำเนินการให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและสวัสดิการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพลูกหนี้โดยฟื้นฟูและอบรมอาชีพ การปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงินและติดตามผลเพื่อป้องกันการกลับไปเป็นหนี้ รวมทั้งคุ้มครองลูกหนี้โดยออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560

3.การศึกษาและเรียนรู้ พัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยการขับเคลื่อนนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" จัดหลักสูตรส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย หลักสูตรโพธิสัตว์น้อย ฯลฯ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ของเด็ก และพัฒนาทักษะคิดเร็ว เทคนิคการคำนวณโดยใช้หลักการคิดรวบยอดเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้านคิดคำนวณของเด็ก การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาทักษะที่มีความจำเป็นในศตวรรษที่ 21 พัฒนาระบบบริหารจัดการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยการลดโรงเรียนขนาดเล็กให้มีจำนวนเหมาะสมกับพื้นที่ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยชะลอการดำเนินคดี/บังคับคดี พักชำระดอกเบี้ย/เงินต้น ครูได้รับประโยชน์ 51,370 ราย

4.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เห็นชอบร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ การออกร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อลดการบริโภคสินค้าที่เป็นโทษต่อร่างกาย รวมทั้งการรณรงค์การมีกิจกรรมทางกายเพื่อลดภาวะอ้วนและการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคระบาด โดยพัฒนากลไกเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ การเตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำโดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินและระบบบัญชาการเหตุการณ์ที่พร้อมปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนด้านความมั่นคงทางสังคมนั้น ประกอบด้วย 1.การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทำให้ไทยได้เลื่อนอันดับเป็น Tier 2 Watch List โดยให้ความสำคัญกับบูรณาการดำเนินงานในทุกระดับตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง การบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดี กับผู้กระทำผิดและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้อง การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายและกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะประเด็นแรงงานบังคับและแรงงานขัดหนี้ รวมทั้งออกกฎหมายที่สำคัญ คือ พระราชบัญญัติวิธีการพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.การสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้ครอบคลุมเพียงพอ โดยผลักดันร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี เพื่อให้มีเงินออมเพื่อเกษียณอายุเพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้งผลักดันให้แก้ไขกฎกระทรวงเพื่อเพิ่มเงินสมทบกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จากเดิมไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี เป็น 2,500 บาทต่อปี เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบมีการออมเพื่อการเกษียณอายุมากขึ้น

3.การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีมาตรการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้อายุบนที่ราชพัสดุ 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี นครนายก เชียงใหม่ และเชียงราย การดำเนินการโครงการสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ โดยให้ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปี

4.การจัดสวัสดิการสำหรับคนยากจน โดยลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท และมีอายุ 18 ปีขึ้นไป มาลงทะเบียนเพื่อรองรับการจัดสวัสดิการของรัฐในอนาคต ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยรับสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างแท้จริง โดยรอบแรกเปิดลงทะเบียน 15 ก.ค. - 15 ส.ค.59 มีผู้ลงทะเบียน 8.3 ล้านคน และจะเปิดใหม่ในช่วงเม.ย.นี้

สำหรับ ในปี 2560 ประเด็นด้านแรงงานที่ควรติดตามและให้ความสำคัญ คือ 1.การจ้างงานภาคเกษตร แม้ว่าในปี 2560 สภาพอากาศได้คลี่คลายและเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นในเดือนธ.ค.59 ถึง ม.ค.60 ทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชนและเกษตรกร ซึ่งต้องช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูที่ทำกินของเกษตรกรต่อไป นอกจากนั้น แม้ว่าในภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งประเทศที่เป็นน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในฤดูแล้งปี 2560 จะมีปริมาณปกติเทียบเท่ากับปี 2556 แต่ปริมาณน้ำในบางเขื่อนยังมีน้ำน้อยกว่าปีปกติ ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีน้ำไม่พอใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการเตรียมความพร้อมปฏิบัติการฝนหลวง การจัดสรรน้ำ และแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง

2.สถานการณ์การว่างงาน แม้อัตราการว่างงานของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำโดยปี 2559 เท่ากับ 1.0% แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556–2558 จาก 0.8% 0.9% และ 0.9% ตามลำดับ และในเดือนมกราคม 2560 อัตราการว่างงานเท่ากับ 1.2% ประกอบกับการคาดการณ์ผู้จบการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2560 ประมาณ 5.5 แสนคน และ 61% เป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2560 เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.0-4.0% โดยมีการขยายตัวดีในทุกด้าน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่มีแนวโน้มจะขยายตัวดีขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะช่วยเพิ่มตำแหน่งงาน และสามารถรองรับแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้

3.การปรับตัวของตลาดแรงงานเข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0 ซึ่งจะมีผลให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวในด้านต่างๆ ทั้งการนำเครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและผ่อนกำลังแรงงาน การเงิน/การตลาดที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย สะดวก และไม่จำกัดเวลา จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการแรงงาน ทั้งคุณสมบัติและผลตอบแทนของแรงงาน โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะสร้างกำลังคนของประเทศให้เป็นกำลังคนที่มีประสิทธิภาพ "Productive Manpower" ผ่านการสร้างระบบและรากฐานการดำเนินงานด้านแรงงานที่มีความยั่งยืนและเป็นมาตรฐานสากลเพื่อสอดรับกับการนำประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ