ภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉิน ยื่น 5 ข้อเสนอพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย

ข่าวทั่วไป Friday March 31, 2017 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวในพิธีปิดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 11 ว่า กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ได้มุ่งมั่นที่จะดูแลประชาชนให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือการเจ็บป่วยในสภาวะปกติ โดยเฉพาะงานบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นงานที่ก่อกำเนิดมาจากการมีจิตอาสาของประชาชน ในรูปแบบมูลนิธิต่างๆ ด้วยการสนับสนุนของภาครัฐ

ปัจจุบันมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)เป็นแกนหลัก ปัจจุบัน มีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทั้งหมด 8,669 ชุด ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 5,605 ชุด ภาครัฐ 1,947 ชุด เอกชน มูลนิธิ/สมาคม 846 ชุด เอกชน 227 ชุด และอื่น ๆ 44 ชุด มีผู้ปฏิบัติงาน 86,105 คน และในปี 2559 มีผู้ใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวนมากถึง 1.4 ล้านครั้ง

ด้านเรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สพฉ.ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติเป็นประจำทุกปี ซึ่งครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 โดยภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทยกับ รมว.สาธารณสุข ซึ่งมีด้วยกัน 5 ข้อดังนี้ 1. ขอให้สร้างการมีส่วนร่วมและตระหนักรู้ด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประชาชนโดยเน้นการมีส่วนร่วมและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ได้รับบริการที่เป็นธรรมใน “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่"

2. ขอให้สนับสนุนให้หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับได้รับการพัฒนาขีดความสามารถสู่มาตรฐานและมีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และกำหนดให้มีการติดตั้งระบบ GPS ในรถปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับเพื่อคุ้มครองทุกชีวิตไปถึงที่หมายอย่างปอลดภัยและทันท่วงที

3. ขอให้กำหนดโครงสร้างอัตรากำลังของนักปฏิบัติฉุกเฉินการแพทย์ให้เป็นตำแหน่งที่มั่นคงในระบบกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมถึงส่งเสริมให้ตั้งสมาพันธ์ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิในระหว่างปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

4. ขอให้พัฒนาระบบบริการในห้องฉุกเฉินทุกมิติเพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการ ลดความรุนแรงของอาการ ลดการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วยและคำนึงถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ

และ 5. ขอให้มีการจัดตั้งกรอบโครงสร้างอัตรากำลังกลุ่มงานการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณภัยในสำนักสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตอบสนองนโยบายและควบคุมกำกับติดตามงานการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณภัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ