(เพิ่มเติม) ครม.เห็นชอบหลักการ พ.ร.บ.ปฏิรูป-พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดแนวทางพัฒนาประเทศ

ข่าวทั่วไป Tuesday April 4, 2017 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ... และร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับข้อสังเกตของ ครม. รวมทั้งความเห็นของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ และสำนักงานศาลยุติธรรม ไปประกอบการพิจารณาด้วย และให้นำกลับมาเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป ซึ่งหลังจากนี้จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจะประกาศใช้ต่อไป

"กฎหมายทั้งสองฉบับมีความสำคัญ เนื่องจากวันที่ 6 เม.ย.จะมีการประกาศใช่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกระบวนการต่างๆที่ภาครัฐทำจะมีขั้นตอนที่มากขึ้น 1 ในนั้นคือพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และพ.ร.บ.ปฏิรูป ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะกำหนดแนวทางในการพัฒนาประเทศในอนาคตว่าประเทศไทยจะเดินต่อไปในทิศทางไหน ขณะเดียวกันจะมีกลไก ขั้นตอนในการปฏิรูปประเทศ"นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงผลประชุม ครม.วันนี้

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของพ.ร.บ.นี้จะเป็นพื้นฐานซึ่งกันและกัน โดยยุทธศาสตร์จะเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะ 20-30 ปีข้างหน้า ขณะที่ปฏิรูปคือการปูพื้นฐานเพื่อมุ่งไปสู่ยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ในการทำยุทธศาสตร์ชาติ สิ่งที่สำคัญคือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกคนทุกภาคส่วน เพราะยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่กระบวนการของฝ่ายบริหารเพียงอย่างเดียว ยุทธศาสตร์ชาติจะมีหลายๆด้าน แต่โครงสร้างที่ต้องมีคือ วิสัยทัศน์ของประเทศใน 20-30 ปีข้างหน้า หลังจากนั้นจะมีแผนการดำเนินการยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ เช่น ด้านไอที ด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ระหว่างการจัดทำก็ต้องมีการรับฟังข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนประกอบด้วย ต้องการความร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

จากนั้นเมื่อคณะกรรมการทำเสร็จก็จะเสนอ ครม.พิจารณาแล้วเสนอสภาฯ หากสภาฯไม่เห็นด้วยก็นับ 1 เพื่อจัดทำกันใหม่ แต่ถ้าสภาฯ เห็นด้วยก็กราบบังคมบังคมทูลฯ เพื่อนำไปสู่การประกาศใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะสัมพันธ์กับกฎหมายปฎิรูปประเทศซึ่งคือการวางรากฐานของการปฏิรูปประเทศ

"ถ้าขาดตรงนี้ ไม่ว่าจะวางยุทธศาสตร์ชาติไว้ดีแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเรื่องคน ทรัพยากรมนุษย์ ถ้าเราไม่พัฒนาคนของเราเด็กของเราในวันนี้ ในอนาคตเด็กไทยจะสู้เด็กชาติอื่น แม้แต่เพื่อนบ้านไม่ได้เลย แม้กระทั่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็ต้องมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นในหมวดปฏิรูปในรัฐธรรมนูญจึงกำหนดรายละเอียดไว้ค่อนข้างมากว่าจะปฏิรูปด้านใดบ้าง อย่างไร และรัฐบาลปัจจุบันพยายามทำเรื่องการปฏิรูปให้สอดรับกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญด้วย มีการตั้ง ป.ย.ป. มีการตั้งคณะกรรมการต่างๆขึ้นมา"

อีกเรื่องที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ของคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งร่างเดิมดูเหมือนจะแยกจากกัน แต่ร่างใหม่กำหนดให้มีการเดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะดูในภาพรวมทั้งหมด ดูในสิ่งที่คณะกรรมปฏิรูปทำมาในเบื้องต้นพุ่งขึ้นมาเป็นยอดปิระมิดอย่างที่ต้องการหรือเปล่า โดยมีประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์คือนายกรัฐมนตรี และมีสภาพัฒน์เป็นเลขานุการของคณะกรรมการทั้งสองคณะเพื่อประสานให้แผนการปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ