ครม.เห็นชอบแผนป้องกันอุบัติเหตุและอำนวยความสะดวกการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์

ข่าวทั่วไป Tuesday April 4, 2017 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแผนปฏิบัติการป้องกันอุบัติเหตุและอำนวยความสะดวกในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 ของกระทรวงคมนาคม (ระหว่างวันที่ 5 – 18 เม.ย.) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

สาระสำคัญของแผนปฏิบัติการฯ ดำเนินการ ระหว่างวันที่ 5 – 18 เมษายน 2560 เนื่องจากวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นวันหยุดราชการ และ คค. คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ โดยจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เพียงพอ ไม่ล่าช้าและไม่มีผู้โดยสารตกค้างที่สถานีขนส่ง

แผนป้องกันและลดอุบัติเหตุ มีดังนี้ ทางถนน ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ ส่วนการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน มีการจัดตั้งจุดให้บริการประชาชนระหว่างเดินทางทั้งทางถนนและทางน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 718 จุด ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการที่พักผ่อน น้ำดื่ม ห้องสุขา ผ้าเย็น รวมถึงบริการข้อมูลการเดินทาง และบริการตรวจสภาพรถ เติมลมยาง น้ำ น้ำกลั่น และเปลี่ยนอะไหล่บางรายการฟรี

ด้านการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่สถานีขนส่ง ชานชาลา และพื้นที่จอดรถสำรองให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชน รวมทั้งจัดเตรียมและเพิ่มจำนวนรถโดยสาร เพิ่มจำนวนตู้โดยสารรถไฟและเที่ยววิ่ง เพิ่มเที่ยวบินเสริมพิเศษ เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางจำนวน 521,996 เที่ยว รองรับผู้โดยสาร 35,624,400 คน/เที่ยว เพิ่มขึ้น 75.40% จากเทศกาลสงกรานต์ปี 2559

นอกจากนี้ ได้เห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เสนอเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการ

สาระสำคัญของแผนบูรณาการฯ ใช้ชื่อในการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ 1.ช่วงการรณรงค์และเสริมสร้างวินัยระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 10 เมษายน 2560 และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 2.ช่วงควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2560 เป้าหมายการดำเนินงานจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (Admit) ลดลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้วยตนเอง

มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนท้องถิ่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยทหารในพื้นที่ และภาคประชาชน นำมาตรการดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการอย่างเคร่งครัด จริงจัง และต่อเนื่อง ประกอบด้วย

1.มาตรการด้านกายภาพเช่น ตรวจสอบลักษณะกายภาพ ปรับปรุงและซ่อมแซมถนน สำรวจ จุดเสี่ยง จุดอันตราย และปรับปรุงแก้ไขให้มีความปลอดภัย

2.มาตรการด้านยานพาหนะเช่น ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ กำหนดมาตรการ แนวทาง เพื่อกำกับ ควบคุม ดูแลยานพาหนะ โดยให้เน้นการควบคุมดูแลรถโดยสารสาธารณะและ รถโดยสารไม่ประจำทาง

3.มาตรการด้านการสัญจรเช่น จัดให้มีถนนปลอดภัยในพื้นที่ "1ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย" กำหนดมาตรการ แนวทางในการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่ประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนน และสนับสนุนเจ้าหน้าที่และวัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติ รวมทั้งจัดจุดพักรถ จุดบริการให้เพียงพอ

4.มาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมายเช่น บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดจริงจัง และต่อเนื่อง โดยเน้นการลดพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ (เมาสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะและขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด) จัดตั้งจุดตรวจให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ โดยให้เพิ่มความเข้มข้นการจัดตั้งจุดตรวจในช่วงเวลา 16.00-20.00 น. กำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning) และกำหนดวีธีเล่นน้ำสงกรานต์ตามวิถีไทย นำแนวทาง "ประชารัฐ" มาใช้เป็นกลไกในการควบคุมปัจจัยเสี่ยง และเฝ้าระวังกำกับ ป้องปรามผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ โดยให้จัดตั้ง "ด่านชุมชน" เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่

5.มาตรการความปลอดภัยการคมนาคมทางน้ำ เช่น จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำประจำท่าเทียบเรือ ตรวจเรือโดยสาร และโป๊ะเทียบเรือ ประสานงานผู้ประกอบการเรือโดยสาร จัดเรือโดยสารไว้บริการให้เพียงพอ

6. มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุเช่น ให้ความช่วยเหลือและเยียวยาหลังเกิดอุบัติเหตุ และประชาสัมพันธ์ระบบการช่วยเหลือต่างๆ ที่ผู้ประสบเหตุควรจะได้รับ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะทำประกันภัย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ด้านฝ่ายความมั่นคง) และรมว.กลาโหม แจ้งให้ที่ประชุมฯ รับทราบถึงงานที่กำกับดูแลโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยให้เพิ่มความเข้มงวดมาตรการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งเน้นงานด้านการข่าวและเพิ่มการเฝ้าระวังการก่อวินาศกรรม การป้องกันเหตุในจุดเสี่ยงต่างๆ ทั้งในส่วนของสนามบิน สถานีรถไฟ รถไฟฟ้า สถานีขนส่งผู้โดยสาร ท่าเรือ ย่านชุมชน หรือศูนย์การค้าที่จะมีประชาชนไปอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการในพื้นที่จัดงานซึ่งจะมีประชาชนเข้าไปร่วมงาน และในอุทยานแห่งชาติทุกแห่ง ตลอดจนบูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายให้จัดทำแผนเผชิญเหตุและมีการซักซ้อมการปฏิบัติเสมือนจริง รวมถึงให้มีการตรวจสอบกล้องวงจรปิด และไฟฟ้าส่องสว่าง ให้มีความพร้อมทุกจุดและสามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บังคับใช้มาตรการและกฎหมายต่างๆ อย่างเคร่งครัด ทั้งในการแก้ไขปัญหาการขับขี่ยานพาหนะ และการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

พร้อมทั้ง ได้กำชับตำรวจทางหลวงดูแลถนนทุกเส้นทางที่อยู่ในความรับผิดชอบ ให้มีการประสานส่วนราชการและภาคเอกชนที่มีพื้นที่ริมถนนสายหลัก เพื่อใช้เป็นที่พักผ่อน หรือที่พักรถของประชาชนในระหว่างเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยได้สั่งการให้กระทรวงต่างๆ ดำเนินการ ดังนี้ กระทรวงคมนาคม สำรวจ ตรวจสอบปรับปรุงซ่อมแซมถนน จุดตัดทางรถไฟ การขนส่งทางน้ำและทางอากาศให้มีความปลอดภัยต่อการสัญจรของประชาชนและนักท่องเที่ยว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ