สกศ. เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในแผนการศึกษาชาติระยะ 20 ปี หลังไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว

ข่าวทั่วไป Monday April 24, 2017 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า ขณะนี้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 มีผลบังคับใช้แล้ว โดย สกศ. ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติซึ่งยุทธศาสตร์ที่ 3 ของแผนให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาผู้สูงอายุไว้ชัดเจนคือ การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองที่ดี มีคุณลักษณะและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนทุกช่วงวัยที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ยกระดับแหล่งเรียนรู้ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวไม่ช้านี้

ทั้งนี้ มีสถิติระบุว่า ปี 2564 มีผู้สูงอายุเกินร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร หรือประมาณ 13 ล้านคน และก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปี 2574 จำนวนผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 28 ประมาณ 18 ล้านคน ขณะที่สัดส่วนอัตราการเกิดของเด็กมีเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปีเท่านั้น

การจัดการศึกษาผู้สูงอายุในแผนการศึกษาชาติ ระยะ 20 ปี จึงต้องมีความพิเศษและสอดคล้องกับการจัดการศึกษาตลอด 5 ช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิด ระดับประถมศึกษามัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา วัยแรงงาน จนกระทั่งวัยสูงอายุ ทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับช่วงวัยทั้งสิ้น ดังนั้น สกศ. เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 3 ในแผนการศึกษาชาติ ระยะ 20 ปี เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุให้มีทักษะความรู้ความสามารถเหมาะสมกับช่วงวัย ตัวชี้วัดที่สำคัญคือ ผู้สูงอายุได้รับการบริการการศึกษา การพัฒนาทักษะอาชีพ ได้รับการส่งเสริมให้เข้าทำงาน สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้แก่คนรุ่นหลัง และสามารถเรียนรู้ประสบการณ์เพิ่มเติมในการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม

ด้านนายศศิพัฒน์ ยอดเพชร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุ กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญต่อการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ ดำเนินงานภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการศึกษาเพื่อผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ หรือ แอคทีฟ เอจจิ้ง (Active Ageing) ซึ่งเน้นให้มีสุขภาพที่ดี ปรับตัวเข้ากับสังคมได้เหมาะสม สามารถทำงานได้ มีรายได้เลี้ยงตนเองได้ ฯลฯ แต่ยังไม่มีระบบการจัดการศึกษาผู้สูงอายุที่ชัดเจน เพราะส่วนใหญ่เป็นการจัดการศึกษาผสมผสานและยืดหยุ่นทั้งรูปแบบตามอัธยาศัยและเรียนในระบบตามที่หน่วยงานเห็นว่าเหมาะสมกับงบประมาณ สถานที่ และเวลา โดยกำหนดหลักสูตรที่เรียนอย่างสนุกสนานและรื่นเริงแก่ผู้สูงอายุเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การดึงผู้สูงอายุเข้าสู่โรงเรียน หรือ แบ็คทูสคูล (Back to School) อีกครั้งตามเป้าหมายของแนวคิดแอคทีฟ เอจจิ้ง ยังขาดเจ้าภาพหลัก ขาดแคลนครูผู้สอนที่มีความเข้าใจผู้สูงอายุ รวมทั้งขาดงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้หน่วยงานจัดการศึกษาทุกระดับให้ความสำคัญและบูรณาการการขับเคลื่อนการศึกษาผู้สูงอายุร่วมกันอย่างเป็นระบบ

ขณะที่นายประยุทธ หลักคำ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กลุ่มเป้าหมายพิเศษ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวว่า กศน.ขับเคลื่อนการศึกษาของผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2557 เป้าหมายสำคัญคือลดสัดส่วนผู้สูงอายุติดบ้านและนอนติดเตียงหันมาติดสังคม โดยการดึงผู้สูงอายุออกจากบ้านมาร่วมกิจกรรมเพื่อเสริมศักยภาพการเรียนรู้ ที่ผ่านมาดำเนินงานภายใต้คณะบูรณาการ 6 กระทรวง และ 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) การกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) กับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในปี 2559 พบว่า ผู้สูงวัยมีผลตอบรับอย่างสูงด้านการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) และรู้สึกมีความสุขในการได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์ หรือเฟสบุ๊ค ในการสื่อสารกับสังคมออนไลน์ และการเรียนรู้ระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม กศน.มุ่งเน้นการให้ความสำคัญเพื่อสร้างบุคลากรภาคบริการ รองรับการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียง โดยจัดหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 420 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันใช้เครือข่ายจัดการเรียนรู้ของกรมอนามัย สธ. เป็นกลไกขับเคลื่อนการเรียนรู้ดังกล่าว และพบว่ากลุ่มอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุร้อยละ 80 มีงานทำ ทั้งนี้ กศน. ใช้กลไก กศน.ตำบล อำเภอ จังหวัด และ กศน.ภาค ร่วมขับเคลื่อนดำเนินงานแก้โจทย์การจัดการเรียนรู้ผู้สูงวัยตามแผนการศึกษาชาติ ระยะ 20 ปี ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ