"ประวิตร"นั่งหัวโต๊ะประชุมบูรณาการจัดการสาธารณภัย เน้นทุกหน่วยร่วมขับเคลื่อนวาระประเทศไทยปลอดภัย ลดความสูญเสีย

ข่าวทั่วไป Friday April 28, 2017 10:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการสาธารณภัยที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยส่งเสริมให้ภาคประชาชนร่วมเป็นเครือข่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสนับสนุนภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ได้พิจารณาร่างระเบียบคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติว่าด้วยค่าใช้จ่ายของอาสาสมัครในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. .... ซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้แก่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ผู้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำร่างระเบียบ กปภ.ช. เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของอาสาสมัคร พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุม ตรวจสอบ เบิกจ่ายค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก กปภ.ช.แล้ว จะส่งเรื่องเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประกาศ

"กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร จะนำระเบียบฉบับนี้ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป เพื่อเป็นสวัสดิการและขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.)" พล.อ.ประวิตร กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสาธารณภัยของประเทศ และให้มีความสอดคล้องกับระบบการบริหารจัดการและองค์กรการปฏิบัติภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 รวมถึงครอบคลุมการจัดการสาธารณภัยที่ประเทศไทยต้องประสบบ่อยครั้ง อาทิ อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม ภัยแล้ง อัคคีภัย แผ่นดินไหว สึนามิ

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติภายใต้ กปภ.ช. บูรณาการขับเคลื่อนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชิงรุกอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ เชื่อมโยงการทำงานในทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวทางการดำเนินงานที่มีเอกภาพ ซึ่งมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย การบูรณาการการจัดการในภาวะฉุกเฉิน การเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน และการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยให้มีมาตรฐานสากล เพื่อสร้างประเทศไทยให้รู้รับ ปรับตัว ฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน (Resilience) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ภายใต้วาระ "ประเทศไทยปลอดภัย" (Safety Thailand)

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รองประธานกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กปภ.ช. ได้รับทราบความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยการซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่เสียหายรวม 11,818 หลัง แยกเป็น เสียหายบางส่วน 11,504 หลัง ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด เสียหายทั้งหลัง 314 หลัง ดำเนินการแล้วเสร็จ 284 หลัง อยู่ระหว่างดำเนินการ 30 หลัง โดยจังหวัดที่ดำเนินการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จมี 10 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง ตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่ พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนด้านการประกอบอาชีพ มีพื้นที่การเกษตรเสียหาย 243,388 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 57,323 ราย มูลค่าความเสียหาย 522.84 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้ให้การช่วยเหลือตามระเบียบของราชการแล้ว 305.79 ล้านบาท

สำหรับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับจังหวัดดำเนินการสำรวจ ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยใช้ผังเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ ซึ่งในระยะเร่งด่วน กรมโยธาธิการและผังเมืองได้วางแผนการจัดทำผังน้ำ เพื่อแสดงทิศทางการไหลของน้ำ แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ผังระบบระบายน้ำของจังหวัด และปรับปรุงระบบระบายน้ำตามธรรมชาติ รวมถึงกำหนดพื้นที่น้ำหลาก (Flood way) ตลอดจนนำมาตรการด้านผังเมืองมาใช้ในการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ กปภ.ช. จะได้ติดตามและประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 และนโยบายของรัฐบาล

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุม กปภ.ช. ไปเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศให้มีความเชื่อมโยงในทุกระดับและครอบคลุมทุกมิติ พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาศักยภาพการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติในภาคประชาชนและอาสาสมัคร เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม พื้นที่ประสบภัยได้รับการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีกลไกการจัดการสาธารณภัยที่เป็นระบบเทียบเท่ามาตรฐานสากล และคนไทยได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ