กทม.เตรียมเปิดประมูลงานปรับปรุงป้ายจราจรอัจฉริยะ 50 จุด ยัน TOR โปร่งใส ปัดล็อคสเปคเอื้อเอกชน

ข่าวทั่วไป Monday May 15, 2017 10:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.เตรียมยกเครื่องปรับปรุงป้ายจราจรอัจฉริยะ ที่ติดตั้งอยู่บนถนนสายหลักๆ ในกรุงเทพมหานคร 40 จุดใหม่ให้ทันสมัยและแม่นยำกว่าเดิม หลังสิ้นสุดสัญญาในเดือนพ.ค.นี้ พร้อมเพิ่มจุดติดตั้งขึ้นมาอีก 10 จุดรวมเป็น 50 จุด เพื่อช่วยให้ข้อมูลการจราจรมีประสิทธิภาพ ประชาชนจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องแบบเรียลไทม์สามารถหลบเลี่ยงและวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ซึ่งการควบคุมมาจากซอฟแวร์ที่ทันสมัยผู้ชนะการประมูลต้องมีการอัพเกรดอย่างต่อเนื่อง การเชื่อมต่อสัญญาณจะเป็นแบบสายไฟเบอร์ซึ่งจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น การควบคุมป้ายจราจรมาจากซอฟแวร์อัตโนมัติที่ประเมินเส้นทางจากการมอนิเตอร์วงจรปิด 10 ตัวจะได้ข้อมูลจราจรในช่วงนั้นๆ

โครงการดังกล่าวของ กทม.มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประโยชน์สาธารณะ คือ การรายงานสภาพจราจร ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการ โดยให้สิทธิเอกชนหารายได้จากการขายพื้นที่โฆษณา ดังนั้นคุณสมบัติเรื่องประสบการณ์การติดตั้งป้ายรายงานสภาพจราจรของเข้าร่วมเสนอราคาจึงเป็นเรื่องสำคัญกว่าการบริหารพื้นที่โฆษณา และควรเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่ควรปล่อยให้ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านดังกล่าวเข้าร่วมเสนอราคาอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้

สำหรับร่าง TOR ที่กำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาการประมูลป้ายจราจรอัจฉริยะว่า ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องเป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มนิติบุคคล ที่จดทะเบียนในประเทศไทยที่มีประสบการณ์ มีผลงานทางด้านงานติดตั้งป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ (VMS) ในสัญญาเดียววงเงินไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นการล็อคสเปคและเอื้อประโยชน์ให้เอกชนไม่เกิน 5 รายนั้น ไม่มีมูลความจริง เนื่องจากการดำเนินงานตามโครงการฯ ผู้ได้รับสิทธิจะต้องใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท การกำหนดวงเงินในสัญญาจำนวนดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินที่จะต้องลงทุนในโครงการ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้เข้าร่วมเสนอราคาควรมีประสบการณ์ในการทำงาน สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำเร็จตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ และเป็นการหลีกเลี่ยงมิให้ผู้ได้รับสิทธิให้เช่าช่วงสิทธิแก่บุคคลอื่น และขอยืนยันว่าคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าเสนอราคาดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนจำนวนมากมีสิทธิเข้าร่วมเสนอราคาในครั้งนี้

ส่วน TOR ที่ต้องแก้ไขหลายครั้ง เพื่อคำนึงถึงความโปร่งใส โดยในร่างเดิมได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ประสงค์จะเสนอราคาว่า ควรต้องมีผลด้านศูนย์ระบบควบคุมป้ายไว้ด้วยซึ่งภายหลังได้มีการแก้ไขและตัดออกไปจากร่าง TOR คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดผลงานด้านศูนย์ระบบควบคุมป้ายจะทำให้มีเอกชนเพียงไม่กี่รายที่มีผลงานดังกล่าวที่มีสิทธิเข้าร่วมเสนอราคา เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่โปร่งใสเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการดังกล่าว

ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของระบบและวัสดุอุปกรณ์ในร่าง TOR ว่าเป็นรุ่นที่ล้าสมัย จำหน่ายในช่วงปี 2548 หรือ 12 ปีที่แล้วนั้น ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบและวัสดุอุปกรณ์ทางด้านนี้ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การกำหนดคุณสมบัติของระบบและวัสดุอุปกรณ์ในร่าง TOR กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นคุณสมบัติขั้นต่ำซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงICT การพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติของระบบอุปกรณ์ก็ต้องพิจารณาจากผู้ที่เสนอคุณสมบัติของอุปกรณ์ที่ดีกว่า เป็นปัจจัยสำคัญ มิใช่หมายความว่าต้องเป็นอุปกรณ์รุ่นที่ระบุไว้ ดังนั้น ผู้ที่ประสงค์จะร่วมเสนอราคาและได้รับสิทธิเป็นคู่สัญญาต้องเสนอเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เพราะการให้คะแนนด้านเทคนิคได้กำหนดไว้ใน TOR เป็นการแสดงถึงขีดความสามารถของระบบรายงานสภาพจราจรเป็นสำคัญ

ระบบเครือข่ายสื่อสาร จากเดิมใช้ ADSL เปลี่ยนเป็น Fiber Optic ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการรับส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และทันสมัยที่สุดในเวลานี้ เพื่อให้การรายงานสภาพจราจรเป็นแบบประมวลผลเวลาจริง( Real time) อีกทั้งพิสูจน์ได้ว่า สามารถรองรับเทคโนโลยีที่อาจพัฒนาให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันในมหานคร New York ,ลอนดอน หรือโตเกียว ก็ใช้ Fiber Optic เป็นเทคโนโลยีในป้ายรายงานสภาพจราจร

นอกจากนี้ร่าง TOR ยังกำหนดไว้ว่า “ผู้รับสิทธิจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงระบบป้ายจราจรอัจฉริยะอย่างน้อยทุก 3 ปี เพื่อให้ระบบมีความทันสมัยและสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยผู้รับสิทธิต้องเสนอแผนการปรับปรุงระบบป้ายจราจรอัจฉริยะ ให้กรุงเทพมหานครเห็นชอบก่อนการพิจารณาต่ออายุสัญญา ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการปรับปรุงระบบดังกล่าว ผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด" หากผู้รับสิทธิไม่เสนอแผนการปรับปรุงก็จะไม่ได้รับสิทธิในการต่อสัญญาซึ่งเป็นการรับประกันว่าทาง กทม.จะต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น

นายวิลาส จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่า กทม.ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ดีมากประชาชนได้รับประโยชน์ เท่าที่ได้อ่านร่างทีโออาร์ โครงการใหม่ในเบื้องต้นยังไม่พบความผิดสังเกตว่าจะมีการล็อคสเปค แต่ก็ไม่ต้องกังวลตนจะจับตาดูโครงการนี้อย่างใกล้ชิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ