สาธารณสุข คงมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเข้มข้น หลังพบมีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในภาคเหนือตอนล่าง

ข่าวทั่วไป Monday June 26, 2017 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง แม้ประเทศไทยไม่มีรายงานการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกในคนตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน แต่ยังคงมีความเสี่ยงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ตามแนวชายแดน

ล่าสุดจากการเฝ้าระวังฯ พบมีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จึงได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเข้าไปดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงานและทุกระดับในพื้นที่ เพื่อดูแลความปลอดภัยและส่งเสริมความตระหนักในการป้องกันตนเองของประชาชน

"ขอความร่วมมือประชาชน ไม่ควรนำมาสัตว์ปีกที่ป่วยหรือป่วยตายมาชำแหละขายหรือรับประทาน หากพบมีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้รายงานเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรืออาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ทันที เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโดยเร็วที่สุด และทำลายซากสัตว์อย่างถูกวิธี ขอให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ ทั้งก่อนและหลังปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังจากดูแลสัตว์หรือหลังการดูแลผู้ป่วย หากไปตลาดสดให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีชีวิต รวมทั้งอุปกรณ์ที่บรรจุสัตว์ หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกให้สวมหน้ากากป้องกันโรค แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว" นายแพทย์โสภณ กล่าว

ด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกตั้งแต่ มกราคม 2546 -15 มิถุนายน 2560 พบผู้ป่วยยืนยันจาก 16 ประเทศทั่วโลกจำนวน 859 ราย เสียชีวิต 453 ราย ขณะที่สายพันธุ์ H7N9 มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2556 - 14 มิถุนายน 2560 จำนวน 1,552 รายส่วนสถานการณ์การติดเชื้อในสัตว์องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ตลอดทั้งปี 2559 พบการติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกทั้งหมด 11 สายพันธุ์ ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ในการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีโรคระบาด องค์การอนามัยโลกไม่ได้ห้ามการเดินทาง แต่ขอให้ระมัดระวังหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีก ไม่ไปฟาร์มสัตว์ปีกหรือตลาดสดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้สั่งการไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เร่งเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มข้น ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีการระบาดของโรคไข้หวัดนกระดับจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น และพื้นที่เลี้ยงไก่ชนจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ