นายกฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมสกลนคร คาดเข้าสู่ภาวะปกติ 4 ส.ค. สั่งเร่งสำรวจความเสียหาย-เยียวยาปชช.

ข่าวทั่วไป Wednesday August 2, 2017 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เดินทางจากท่าอากาศยานทหารกองบิน 2 ดอนเมือง ไปยังสนามบินค่ายกฤษณ์สีวะรา จังหวัดสกลนคร เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดสกลนคร

โดยนายกรัฐมนตรีได้รับฟังบรรยายสรุปปัญหาและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และสถานการณ์น้ำจากอธิบดีกรมชลประทานที่ค่ายกฤษณ์สีวะรา ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้เข้าสู่ระยะการฟื้นฟูและสำรวจความเสียหาย คาดว่าในวันที่ 4 ส.ค.นี้จะเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นจะซ่อมแซมแล้วเสร็จในวันที่ 12 ส.ค.60 และมีแนวทางจะปรับปรุงคันกั้นน้ำให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงแรงกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนโดยเร็ว และเร่งสำรวจพื้นที่ความเสียหายให้ชัดเจน โดยนำเอาประชาคมมามีส่วนร่วมเพื่อป้องกันปัญหาการใช้งบประมาณและการร้องเรียน ขณะเดียวกันขอให้สำรวจอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศบูรณะซ่อมแซมพร้อมใช้งาน และขุดลอกไม่ให้ตื้นเขิน ซึ่งรัฐบาลพร้อมอนุมัติงบประมาณดำเนินการ เพื่อให้แหล่งเก็บน้ำเหล่านี้ใช้สามารถใช้แก้ปัญหาน้ำแล้งในช่วงหน้าแล้งด้วย โดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปช่วยดูแล และจะให้ทหารไปช่วยด้วย

สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ให้เร่งดำเนินการทำสันเขื่อนใหม่จากเสริมจากเดิมและขอให้ปรับปรุงเพิ่มความจุน้ำให้มากขึ้น พร้อมทั้งย้ำเรื่องการสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดปัญหาจากประชาชน ซึ่งหากไม่ดำเนินการก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ดังนั้นต่อไปนี้ต้องร่วมมือกัน อย่าสร้างความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และขอให้หยุดเรื่องของการเมืองไว้ก่อน เพราะส่วนตัวไม่ได้มาจากการเมือง และพร้อมที่จะทำงานในทุกพื้นที่ให้กับทุกคน ไม่มีการแบ่งแยก

จ.สกลนคร ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนเซินกาทั้งสิ้น 18 อำเภอ รวม 58,804 ครัวเรือน เสียชีวิต 3 ราย สูญหาย 1 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 583,908 ไร่ สาธารณูปโภคเสียหาย 24 แห่ง รวมทั้งเส้นทางคมนาคม ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้น เจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือและอพยพประชาชนมาอยู่ในที่ปลอดภัย จัดตั้งศุนย์พักพิงผู้ประสบภัย 4 จุด ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลบริการอาหารและน้ำดื่ม รวมทั้งการรับส่งทางเรือ นอกจากนี้ ทหารได้ระดมเครื่องจักรกู้ภัย และเร่งระบายน้ำ วางแผนพร่องน้ำ และควบคุมการระบายน้ำของเขื่อนน้ำพุง (กฟผ.)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ