สพฉ.จัดอบรมการปฐมพยาบาล-การช่วยชีวิตอย่างถูกวิธีแก่ผู้ผลิตสื่อ หวังสอดแทรกความรู้ให้ ปชช.ผ่านภาพยนตร์และละคร

ข่าวทั่วไป Saturday August 5, 2017 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดฝึกอบรมการปฐมพยาบาล,การฝึกช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน CPR และการใช้เครื่อง AED ,การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บอย่างไร และเทคนิคการถ่ายทำการแสดงในฉากห้องฉุกเฉิน หรือฉากที่มีเครื่องมือแพทย์ แก่ผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ เพื่อนำเสนอข้อมูล ด้านการปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงการเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการใช้งานสายด่วน 1669 ที่ถูกต้องให้กับประชาชน

น.พ.สัญชัย ชาสมบัติ ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้จุดประสงค์สำคัญคือการประชาสัมพันธ์การปฐมพยาบาลและการแพทย์ฉุกเฉินอย่างถูกวิธีสำหรับผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนต์เพราะที่ผ่านมาประชาชนที่เสพสื่อละครมักจดจำการปฐมพยาบาลแบบไม่ถูกต้อง อาทิเช่น การใช้ปากดูดบาดแผลเมื่อถูกงูกัด ฉากแอ็คชั่นที่มีการยิงกันและต้องกดบาดแผลเพื่อห้ามเลือด และที่น่าสนใจที่เป็นประเด็นร้อนคือกรณีที่มีคนถูกไฟฟ้าช็อต ผู้เข้าให้การช่วยเหลือได้ลากคนที่ถูกไฟช็อตไปฝังไว้ในทรายเพื่อจะให้หายจากไฟดูดแต่สุดท้ายผู้ที่ถูกไฟดุดก็เสียชีวิตในที่สุดจึงถือว่าเป็นความเชื่อที่ผิด รวมไปถึงกรณีฉากการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่าการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ถูกต้องเป็นอย่างไรอยู่ในทาไหนเพราะหากมีการเคลื่อนย้ายที่ผิดวิธีอาจทำให้กระดูกสันหลังหักได้ กรณีฉากช่วยเหลือคนจมน้ำก็ต้องได้รับการแก้ไขเพราะทีผ่านมามีการนำเสนอการช่วยเหลือที่ผิดวิธี ซึ่งต่อไปทาง สพฉ.รวมทั้งผู้จัดหนังละครต้องมาร่วมมือกันในการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้เพื่อให้ประขาชนนำวิธีแบบอย่างการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องไปใช้ต่อไป

“ต้องยอมรับว่าละครมีผลต่อความคิดของประชาชน ซึ่งผลการวิจัยในหลายหน่วยงานได้ระบุอย่างชัดเจนว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นชอบดูละครซึ่งจะทำให้เกิดการจดจำในแบบอย่างต่างๆจากละครเหล่านั้น โดยเฉพาะการจดจำในเรื่องสินค้าซึ่งเกี่ยวโยงกับการแสดงต่างๆ ในฉากละคร ซึ่งในอนาคตสพฉ.จะดึงเหล่าบรรดาเน็ตไอด้อลมาอบรมร่วมกับผู้กำกับภาพยนต์เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีอีกต่อไปด้วย "ผู้ช่วยเลขาธิการสพฉ.กล่าว

ในปี 2559 มีละครทื่ออกอากาศ 167 เรื่อง ภาพยนต์ไทยที่ออกฉาย 50 เรื่อง ช่องรายการในระบบดิจิตอล 26ช่อง มีความน่าสนในเรื่องสัดส่วนภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติในประเทศไทยยังมีน้อย ขณะที่ต่างประเทศได้มีการผลิตภาพยนตร์หรือละครที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติออกมาเป็นจำนวนมาก โดยในรายละเอียดของละครและภาพยนต์จะบอกถึงวิธีการเอาตัวรอดของประชาชนอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเกิดภัยพิบัติในภาพยนต์ของต่างประเทศจะระบุอย่างชัดว่าจุดนัดเจอเมื่อเกิดภัยพิบัติคือที่ใด และขั้นตอนในการช่วยเหลือจะทำอย่างไร ซึ่งต่างจากบ้านเราในบทภาพยนตร์หรือละครจะเน้นไปที่การแจกถุงยังชีพ ซึ่งไม่ใช่การช่วยเหลือที่ประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้กรณีการทำงานในห้องฉุกเฉินของแพทย์ก็จะต้องมีการให้ความรู้กับประชาชนที่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาละครได้สร้างภาพจำว่าญาติสามารถเข้าไปเยี่ยมในห้องฉุกเฉินได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในห้องฉุกเฉินไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปได้

"สพฉ.ยินดีที่จะสนับสนุนข้อมูล รวมไปถึงเจ้าหน้าที่เพื่อฝึกอบรมให้ ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะลงบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท ผู้ผลิตละครต่างๆเหล่านี้ เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง อาทิ การใช้เครื่องช๊อตหัวใจ การใช้อุปกรณ์ในการผ่าตัด การฝึกช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน cpr"ผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ. กล่าว

ด้านน.ส.จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้จัดและผู้กำกับละครอิสระ กล่าวว่า ปัญหาของเราก็คือผู้กำกับผู้เขียนบทรวมถึงผู้จัดละครส่วนใหญ่จะไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งการอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องมีความจำเป็นมาก ที่ผ่านมาในส่วนของตนนั้นพยายามให้นักแสดงผู้เขียนบทหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องได้รับการอบรมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนจะเข้าฉากจริง เพื่อเป็นการสื่อสารที่ถูกต้องไปยังผู้ชม ยกตัวอย่างเช่น การปั๊มหัวใจและจับชีพจรที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ซึ่งโครงการที่สพฉ.จัดอบรมขึ้นในครั้งนี้ถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก ซึ่งการเผยแพร่และการประชาสัมพันธ์เบื้องต้นไม่อยากให้มองว่ามีประโยชน์เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนจะต้องเรียนรู้ไว้เพื่อที่จะช่วยเหลือบุคคลใกล้ชิดให้รอดชีวิตจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้

ขณะที่นายธีรศักดิ์ พรหมเงิน ผู้กำกับละครจากค่ายกันตนา กล่าวว่า ทุกครั้งที่ ตนจะต้องถ่ายทำฉากที่เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือฉากที่เกี่ยวข้องระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เราจะใช้สถานที่ถ่ายทำคือโรงพยาบาลและ เราจะขอแนะนำจากแพทย์และพยาบาลที่อยู่โรงพยาบาลนั้นๆ สำหรับตนคิดว่า การทำหนังหรือละครสักเรื่อง เราจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นเราต้องถ่ายทอดสิ่งที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งการจัดอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นของ สพฉ. ถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก นอกจากนี้ตนอยากให้บรรจุหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้กับเด็กๆ และเยาวชนเพื่อเป็นการปลูกฝังในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ ซึ่งทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

นพ.สัญชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดอบรมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่สพฉ.ฝึกอบรมการปฐมพยาบาล และการช่วยชีวิตอย่างถูกต้อง หลังจากปีที่ผ่านมามีผู้ผลิตสื่อ และผู้จัดละคร ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมจำนวนมาก หวังให้ประชาชนในการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้ หากมีอาการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ