สธ.เผย 7 เดือนแรกปี 60 พบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนู 1,362 ราย เสียชีวิต 29 ราย เตือนระวังทุกพื้นที่ช่วงน้ำลด

ข่าวทั่วไป Sunday August 6, 2017 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนู ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 29 ก.ค. 60 พบผู้ป่วยแล้ว 1,362 ราย เสียชีวิต 29 ราย โดยพบว่าผู้ป่วยครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีผู้ป่วย 674 ราย เสียชีวิต 10 ราย ส่วนจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ศรีสะเกษ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่าในช่วงนี้จะพบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งสามารถพบได้ทุกพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงน้ำลด ทั้งนี้ โรคไข้ฉี่หนู อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาไม่กี่วันหลังจากเริ่มป่วย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่หลายๆครั้ง จะพบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการปวดหัว ตาแดง แต่จะมีบางส่วนซึ่งมีอาการรุนแรง ในกลุ่มนี้จะมีอาการไตวาย (ปัสสาวะไม่ออก) ตับวาย (ตัวเหลือง ตาเหลือง) อาจมีอาการเหนื่อย ไอเป็นเลือด และช็อค (ไม่รู้สึกตัว) ในคนที่รอให้มีอาการมากแล้วจึงมารักษามักจะเสียชีวิต ส่วนใหญ่ในผู้ที่มีอาการรุนแรงอาการจะแย่ลงอย่างรวดเร็วในวันที่ 4-5 หลังจากเริ่มมีไข้ ปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อคือ บาดแผลบริเวณร่างกายที่โดนน้ำโดยเฉพาะเท้า บาดแผลอาจเป็นเพียงรอยถลอก หรือแม้แต่แผลจากน้ำกัดเท้า หากมีอาการดังกล่าวและมีประวัติการสัมผัสแหล่งน้ำหรือในพื้นที่หลังน้ำท่วม ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและได้รับการรักษาโดยเร็ว

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนป้องกันตนเอง โดยหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำแช่น้ำและในบางพื้นที่ที่น้ำลดจะมีปริมาณเชื้ออยู่ในสิ่งแวดล้อมมาก ควรใส่รองเท้าบูท หรือสิ่งป้องกันชั่วคราวสวมใส่บริเวณเท้าโดยเฉพาะช่วงทำความสะอาดบ้านเรือน มีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ