กรมชลฯ เผยแม่น้ำมูลตอนล่างมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเหตุมีน้ำหลากลงไปเพิ่ม เร่งระบายลงน.โขง

ข่าวทั่วไป Tuesday August 8, 2017 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง หลังพบว่าทางตอนบนของลุ่มน้ำยังมีน้ำปริมาณน้ำไหลหลากลงแม่น้ำมูลอย่างต่อเนื่อง

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริย(SWOC) พบว่า ลุ่มน้ำชี ปริมาณน้ำจากแม่น้ำชีตอนบนและลำน้ำพองที่ไหลมาบรรจบกับปริมาณน้ำที่ไหลมาจาก ลำปาวมีแนวโน้มลดลง โดยขณะนี้ยอดน้ำหลากกำลังเคลื่อนตัวผ่านแม่น้ำชีตอนล่างทำให้ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำ E.18 อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด วัดได้ 1,129 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีน้ำล้นตลิ่ง 0.95 เมตร ระดับน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนที่สถานีวัดน้ำ E.20A อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร วัดได้ 1,943 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.05 เมตร ระดับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ลุ่มน้ำมูล จากสถานการณ์น้ำแม่น้ำชีที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณน้ำที่สถานี M.182 อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ วัดได้ 949 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 2.15 เมตร มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะมีผลต่อเนื่องไปถึง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โดยปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ M.7 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,798 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ความจุลำน้ำ 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับสูงกว่าตลิ่ง 0.83 เมตร แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดอยู่ในเกณฑ์ 3,000 – 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำจะสูงกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร ในวันที่ 11 ส.ค. 60 ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี

สำหรับเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ปัจจุบันพบว่ามีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังมีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบน จำเป็นต้องมีการพิจารณาปล่อยน้ำเพิ่ม เพื่อให้มีพื้นที่ว่างรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงเขื่อนในระยะต่อไป เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำเต็มเขื่อน ที่อาจจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้ ซึ่งจากการประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายอำเภอ, กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ได้ลงความเห็นว่าควรให้เขื่อนลำปาวเพิ่มระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำล้น จากเดิมที่ระบายวันละ 25 เป็น 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งผลจากการระบายน้ำเพิ่ม จะทำให้พื้นที่ด้านท้ายเขื่อน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และร่องคำ ได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 6 ประสานกับทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ ซึ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้ลงพื้นที่ชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมกับสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบถึงสถานการณ์และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเดือดร้อนน้อยที่สุด

สำหรับสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมน้ำสูงสุด(Upper Rule Curve) 11 แห่ง คือ กิ่วคอหมา, แควน้อยบำรุงแดน, ห้วยหลวง, น้ำอูน, น้ำพุง, จุฬาภรณ์, อุบลรัตน์, ลำปาว, สิรินธร, ป่าสักชลสิทธิ์ และทับเสลา ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ระหว่าง 80 – 100 % มีจำนวน 153 แห่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่า 100% จำนวน 77 แห่ง

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำเรื่องการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ด้วยการลดระดับน้ำในอ่างฯให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ (Rule curve) อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ(Inflow) มากกว่าความจุของอ่างฯ รวมถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ (Watershed Area) เมื่อมีฝนตกหนักจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และขอมอบหมายผู้รับผิดชอบบริหารจัดการน้ำของแต่ละอ่างฯ ต้องติดตาม วิเคราะห์ และเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ