รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมจ.อุบล เร่งแผนระบายลงน.โขง, เตรียมเสนอแผนแก้ปัญหาระยะยาวในครม.สัญจร 21-22 ส.ค.

ข่าวทั่วไป Friday August 11, 2017 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการช่วยเหลือบรรเทาอุทกภัยจากพายุเซินกา ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีใน 2 ส่วนหลัก คือ ติดตามการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากพายุเซินกา และเตรียมการประชุม ครม.สัญจร ณ จ.นครราชสีมา ในวันที่ 21 - 22 ส.ค. 60 นี้

สำหรับแผนการระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่น้ำท่วมขังนั้น กรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำในพื้นที่จุดเสี่ยง ทั้งลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล โดยจัดจราจรน้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ช่วงอุบลราชธานี เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำชีให้ไหลงลงแม่น้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว ด้วยการเปิดบานระบายน้ำของเขื่อนในแม่น้ำชีทุกแห่ง พร้อมใช้เครื่องผักดันน้ำชะลอน้ำจากแม่น้ำมูลโดยการลดบานเขื่อนราษีไศลลง และ ควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบ บริเวณด้านเหนือเขื่อนราษีไศล (ศรีสะเกษ) หากมีปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลมาจาก นครราชสีมา, บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ จะทำการยกบานขึ้น เพื่อลดน้ำจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีมาบรรจบกัน ซึ่งคาดว่าวันนี้ ณ สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี จะมีน้ำสูงสุด หลังจากนี้ระดับน้ำจะลดลง และคาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติในอีก 2 สัปดาห์ ซึ่งระหว่างนี้คาดว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 9,100 ไร่ แบ่งเป็น ท่วมระดับ 0.30 ม. จำนวน 1,400 ไร่ ท่วมระดับ 0.80 ม. จำนวน 2,700 ไร่ และท่วมระดับ 1.30 ม. อีกจำนวน 5,000 ไร่ ซึ่งได้สั่งการให้กรมชลประทานประสานจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่

ขณะที่แนวทางการป้องกันแก้ปัญหาน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี ในระยะยาว ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจเชื่อมต่อกับประเทศลาว และ กัมพูชา มีแม่น้ำไหลมารวมกัน 3 สาย ใหญ่ คือ แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และ แม่น้ำโขง ซึ่งถือว่าน้ำจากทุกพื้นที่ในภาคอีสานไหลมารวมกันที่ จ. อุบลราชธานี พื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะ อ.วารินชำราบ ซึ่งอยู่ติดกับ อ.เมือง

จากสถิติที่ผ่านมา ในรอบ 66 ปี มีน้ำท่วมมาก 22 ปี น้ำท่วมเล็กน้อย 18 ปี ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก แต่ยังไม่มีโครงการแก้ไขป้องกันปัญหาน้ำท่วมเลย ดังนั้น ในการประชุม ครม. สัญจร วันที่ 21 - 22 ส.ค. 60 กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอแนวทางการป้องกันน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี ระยะยาว แบ่งเป็น 3 แผนหลัก คือ 1.ลดปริมาณน้ำผ่าน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ได้แก่ การสร้างทางผันน้ำแม่น้ำชี - เซบาย - เซบก - ห้วยตุงลุง เพื่อลดปริมาณน้ำจากแม่น้ำชีที่ไหลลงแม่น้ำมูล ผันน้ำเลี่ยงที่ตั้ง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีผลในการลดอุทกภัย ณ จุดบรรจบแม่น้ำชี - แม่น้ำมูล อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยแนวทางเบื้องต้น คือ การขุดคลองผันน้ำจากแม่น้ำชี บริเวณเหนือฝายยโสธร ผ่านต้นน้ำลำเซบาย ต้นน้ำลำ เซบก ระบายน้ำที่ผันลงสู่ห้วยตุงลุงเพื่อระบายลงแม่น้ำมูลในที่สุด ดยความยาวคลองผันน้ำประมาณ 182 กม. ปริมาณการระบาย 200 ลบ.ม./วินาที

2. การปรับสภาพความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับอุทกภัย เนื่องจากพื้นที่น้ำท่วม อ.วารินชำราบ เป็นทางน้ำธรรมชาติของแม่น้ำมูล การอยู่อาศัย และ พัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม สามารถอยู่ได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากนัก เช่น ยกระดับถนนให้สัญจรได้ และไม่ขวางทางน้ำ ปรับปรุงการระบายน้ำในพื้นที่ให้สอดคล้องกับการระบายน้ำ มาตรการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนด้านการเกษตรให้สอดคล้องกับฤดูกาล สร้างแหล่งน้ำในพื้นที่

3. ปรับปรุงคันกั้นน้ำเดิม และ ก่อสร้างคันกั้นน้ำเพิ่ม โดยพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำข้างทางน้ำทำให้พื้นที่อยู่ของน้ำลดลง คันกั้นน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถรับได้ ต้องปรับปรุงคันกั้นน้ำ และ สร้างเพิ่มในจุดที่จำเป็น อาทิ เสริมความสูง ความแข็งแรงคันกั้นน้ำที่มีอยู่เดิมให้รองรับปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งก่อสร้างคันกั้นน้ำเพิ่มเติมในจุดที่เป็นปัญหา เช่น ข้างแม่น้ำชี จ.ยโสธร และ ข้างแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ