นายกฯ ห่วงสถานการณ์น้ำสั่งเตรียมความพร้อมแจ้งเตือนปชช./รมว.เกษตรฯ ให้เร่งระบายน้ำรับมือพายุลูกใหม่

ข่าวทั่วไป Tuesday October 10, 2017 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนจากจากปริมาณน้ำที่ไหลจากตอนบนของประเทศ รวมถึงผลจากปริมาณฝนที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีของฝนที่ตกไม่ตรงตามฤดูกาล จากพายุดีเปรสชั่นต่างๆ จนทำให้ปริมาณน้ำสะสมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทั่วประเทศ เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่รัฐบาลยืนยันมีการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับสถานการณ์

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนได้ติดตามข้อมูล และการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้สั่งการให้มีการเผยแพร่ข้อมูลตัววิ่งทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง เกี่ยวกับสถานการณ์และความเสี่ยงในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ด้วย

ทางด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำประเทศไทยในเวลานี้ ในเขื่อนหลักมีปริมาณน้ำสะสม 79% โดยยังสามารถรับน้ำได้อีก 20% และเนื่องจากขณะนี้มีความเสี่ยงที่ประเทศจะต้องเจอกับสถาการณ์พายุฝน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำในจุดที่สำคัญแล้ว

จากการสำรวจพบว่าในพื้นที่ภาคอีสานและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดเชียงรายลงมามีปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนค่อนข้างมาก และจะใกล้จะเต็มความจุของเขื่อน จึงมีแผนที่จะปัดน้ำผ่านทางระบายน้ำหลักของประเทศ เพื่อให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขง ผ่านทางลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องสูบน้ำทำงานอย่างเต็มที่ในการผลักดันน้ำให้ได้ตามเป้า

สำหรับพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ยังคงมีจุดเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ 3 จุด ประกอบด้วย พื้นที่จังหวัดนครสวรค์ เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เวลานี้สามารถระบายน้ำได้ 2,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าต่ำกว่าจุดวิกฤติที่ 2,850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ถือเป็นจุดสุดท้ายที่จะสังเกตว่าจะส่งผลกระทบถึงพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือไม่ เป็นพื้นที่กว้างและสามารถระบายน้ำได้เวลานี้ 2,260 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าต่ำกว่าจุดวิกฤติที่ 3,500 ลูกบาศก์เมตรเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนที่เกิดขึ้น แต่อาจจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบบ้างในส่วนของพื้นที่นอกคันกันน้ำ ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงเทพมหานคร

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้เกินจุดวิกฤติแล้ว หลังกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ว่าจะเกิดฝนตกหนักขึ้นอีกในช่วงวันที่ 12-14 ตุลาคมนี้

นอกจากนั้นยังได้สั่งการเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องมือระบายน้ำตามพื้นที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสุโขทัยหรือพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ โดยรายงานล่าสุด พบว่าพื้นที่ส่วนใต้ของจังหวัดนครสวรรค์ ใต้เขื่อนเจ้าพระยา มีพื้นที่รับน้ำทั้งหมด 12 ทุ่ง ได้ดำเนินการปัดน้ำเข้าไปแล้ว 70% ยังเหลือพื้นที่รองรับน้ำได้อีก 30% จึงคาดการณ์ว่าหากปริมาณฝนไม่มากจนเกินไป จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามเป้าที่วางไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ