นิด้าโพลเผยคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเก็บค่าประกันสังคมเพิ่ม ชี้บริการยังไม่ดี-แทบไม่ได้รับประโยชน์เพิ่ม

ข่าวทั่วไป Sunday November 5, 2017 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ข้อเสนอการเก็บเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมแบบใหม่" จากการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 60.83% ระบุว่า ใช้ประกันสังคมตามมาตรา 33 (เป็นผู้ประกันตนภาคบังคับ เป็นพนักงานหรือลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการ) รองลงมา 21.42% ระบุว่า มาตรา 40 (เป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจ ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ) และ 17.75% ระบุว่า มาตรา 39 (ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ เคยเป็นพนักงานหรือลูกจ้างแต่ลาออก)

เมื่อถามถึงการเคยได้ยินหรือรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการเพิ่มอัตราการเรียกเก็บเงินค่าประกันสังคมแบบใหม่ ของสำนักงานประกันสังคมหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 50.84% ระบุว่า เคยได้ยิน / เคยรับรู้ และ 49.16% ระบุว่า ไม่เคยได้ยิน / ไม่เคยรับรู้

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจะเรียกเก็บเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตน (ค่าประกันสังคม) เพิ่มขึ้นใหม่ตามฐานเงินเดือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 57.00% ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะจ่ายเท่าเดิมก็ดีอยู่แล้ว ไม่อยากจ่ายเพิ่ม เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่ค่อยได้ใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม และถึงแม้ว่าจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นแต่การให้บริการก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร รองลงมา 23.50% ระบุว่า เห็นด้วย เพราะจะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เหมาะสมและสอดคล้องกับฐานเงินเดือนที่ปรับขึ้น และ 19.50% ไม่แน่ใจ / ไม่ระบุ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนหากต้องจ่ายเงินค่าประกันสังคมเพิ่มขึ้นแล้ว ประชาชนจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด พบว่าประชาชน 15.35% ระบุว่าได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นมาก ส่วนอีก 19.74% ระบุว่าได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ขณะที่ 34.37% ระบุว่าได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อย ส่วนอีก 25.58% ระบุว่าไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเลย และมีเพียง 4.96% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงว่าอยากให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มสวัสดิการในเรื่องใดบ้าง หลังจากการเรียกเก็บเงินค่าประกันสังคมเพิ่มขึ้น 5 อันดับแรก พบว่า อันดับแรกประชาชนส่วนใหญ่ 19.65% ระบุว่า เงินค่ารักษาพยาบาล อันดับสองรองลงมา 14.38% ระบุว่า เงินบำเหน็จชราภาพ อันดับสาม 12.77% ระบุว่า เงินทดแทนจากการว่างงาน อันดับสี่ 10.66% ระบุว่า เงินทดแทนจากการเลิกจ้างหรือลาออก และอันดับห้า 8.85% ระบุว่า เงินสงเคราะห์บุตร

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนที่ใช้ประกันสังคมทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,251 หน่วย ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3 – 4 พฤศจิกายน 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ