(เพิ่มเติม1) กรมอุตุฯ เตือน 15 จ.ภาคใต้รับมือฝนตกหนักมากหลายพื้นที่ช่วง 6-9 พ.ย.

ข่าวทั่วไป Monday November 6, 2017 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง"พายุ “ดีเปรสชัน" บริเวณอ่าวไทย (มีผลกระทบถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560)" ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 06 พฤศจิกายน 2560 ระบุว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ (6 พ.ย. 60) หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ได้เคลื่อนลงบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง และได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ทางด้านตะวันออกของจังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 250 กิโลเมตร หรือละติจูด 7.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 102.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุด ใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ย. 60) และจะเคลื่อนลงทะเลอันดามันในระยะต่อไป

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีลมแรง และมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักถึงหนักมาก และฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณภาคใต้ขอให้ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทาง

สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าได้รับผลกระทบมีดังนี้ ในช่วงวันที่ 6-8 พ.ย. 60 บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานีรวมทั้งเกาะสมุย นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. 60 ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกขอให้ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ 14 จังหวัด รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และเขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย จากภาวะฝนตกหนักในช่วงวันที่ 6 – 9 พฤศจิกายน 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด

รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งเสริมแนวคันกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง และพื้นที่เศรษฐกิจกรณีสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย หรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการฯ แผนเผชิญเหตุของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางการจัดการสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพให้รายงานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและทันท่วงที

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ