กรมชลฯ เตรียมพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ รองรับปริมาณฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในภาคใต้ พร้อมเฝ้าระวังหาดใหญ่

ข่าวทั่วไป Wednesday November 8, 2017 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ที่อำเภอบางสะพานมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ซึ่งกรมชลประทานได้สั่งการให้มีการเดินเครื่องสูบน้ำคู่ขนานกันไป และเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง 7 จังหวัด คือ พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีฝนระดับปกติ แต่ได้เตรียมการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ 3 แห่งไว้เพื่อรอรับฝนที่จะตกเหนืออ่างฯ คือ อ่างเก็บน้ำสะเดา อ่างเก็บน้ำคลองหลา และอ่างเก็บน้ำจำไหล ซึ่งจะสามารถรองรับน้ำรวมกันได้ประมาณ 32 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำคัญที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งกรมชลประทานได้เตรียมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ วัชพืชทางน้ำภายในคลองอู่ตะเภา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือระบายน้ำไม่ให้เข้าท่วมตัวเมืองหาดใหญ่ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ไว้ทุกบริเวณที่เคยท่วมซ้ำซาก ทั้งนี้ ได้มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ทุกจุด หากมีพายุดีเปรสชั่นหรือฝนตกหนัก สามารถเดินเครื่องทำงานได้ทันที

นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ภาคอีสาน หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยนั้น พบว่า มีตัวคันกั้นน้ำชำรุดเสียหาย จึงได้สั่งการให้ซ่อมแซมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งระดับน้ำบริเวณท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ได้ลดลง 28 ล้าน ลบ.ม./วัน (เป้าหมาย 20 ล้าน ลบ.ม./วัน) ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งแต่ ลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสารคาม ลดลงมาตามลำดับแต่ก็ยังสูงกว่าตลิ่ง ขณะนี้น้ำยังคงชะลอตัวอยู่บริเวณ จ.ร้อยเอ็ด และยโสธร โดยจะระบายออกให้ได้ในช่วงปลายเดือน พ.ย.

อีกทั้งหลังจากที่ไม่มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้สามารถระบายน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์และท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงไปได้ จากเดิมมีปริมาณน้ำสูงถึง 2,700 ลบ.ม./นาที ลดลงเหลือ 650 ลบ.ม./นาที ส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลดลงไม่น้อยกว่า 1 เมตร แต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลดลงเพียง 10 ซ.ม./วัน ขณะนี้กรมชลประทานได้ปรับแผนการระบายน้ำ โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนในการระบายน้ำออกไป พร้อมกับใช้เครื่องผลักดันน้ำ ซึ่งการลดการระบายน้ำผ่านลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะลดแบบขั้นบันได และมีเป้าหมายอยู่ที่ 700 ลบ.ม. การระบายน้ำในทุ่งพื้นที่ลุ่มทั้ง 13 พื้นที่จะลดลงภายในเดือนพ.ย.และธ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ