นายกฯเผยสถานการณ์น้ำท่วมภาคกลาง-อีสาน-เหนือเริ่มทุเลาแล้ว พร้อมเร่งฟื้นฟู-เยียวยาปชช.ให้ทั่วถึง

ข่าวทั่วไป Saturday November 11, 2017 10:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านสถานีโทรทัศน์เมื่อคืนนี้ว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคกลาง ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในปัจจุบันเริ่มทุเลาลดลงเหลือ 12 จังหวัด ที่ยังคงน้ำท่วมขังอยู่ หลังจากนี้ก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเร่งฟื้นฟู และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้ทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการดำเนินการไว้แล้ว

"ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังคงมีปริมาณน้ำเข้าเขื่อน เฉลี่ยประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน มีการระบายออกจากเขื่อนเฉลี่ยประมาณ 22 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน สรุปว่าวันนี้ เรามีน้ำคงเหลือกว่า 14,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำขั้นต่ำ 12,000 ล้าน ลบ.ม. สำหรับบริหารจัดการให้เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำในอนาคต สำหรับอุปโภค-บริโภค การเกษตร และระบบนิเวศ ในช่วงฤดูแล้งและช่วงต้นฤดูฝนของปีหน้า อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า จากนี้ก็ต้องเริ่มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เยียวยา ทั้งหมดได้มีการกำหนดไว้แล้วในแผนการดำเนินงาน ซึ่งเราจะต้องทำให้รวดเร็วและทั่วถึง ฝากพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือกับทุกส่วนราชการด้วยในการสำรวจ"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับภาคเหนือนั้น ขณะนี้ก็ย่างเข้าสู่หน้าหนาว ก็จะมีทั้งภัยหนาวและไฟป่า ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่เหนือความคาดเดา โดยเฉพาะการป้องกันปัญหาไฟป่า และหมอกควันจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ทุกคนต้องควบคุม ต้องระมัดระวัง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลก็ได้วางมาตรการต่าง ๆ และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันตามแผนบูรณาการไว้แล้ว ซึ่งขอให้ทำต่อเนื่อง ให้เพิ่มมากขึ้น และทำตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาชน เกษตรกร โดยต้องเริ่มทบทวนความเข้าใจ ซักซ้อมการปฏิบัติ ทั้งคน เครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง ในการขอความร่วมมือ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเดิม ๆ เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่าจุดไฟในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย พื้นที่ที่มีความเสี่ยง

ส่วนภาคใต้นั้นกำลังเข้าสู่ช่วงฝนตกชุก มีมรสุม น้ำฝนสะสม อันจะทำให้เกิดน้ำท่วม น้ำป่า พื้นที่เสี่ยง พื้นที่ท่วมเป็นประจำ ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งแผนเผชิญเหตุ ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ วันนี้ก็มีการย้ายทั้งคน ทั้งเครื่องมือไปเตรียมพร้อมไว้ ไปช่วยเหลือแล้วในขณะนี้ ประชาชนทั่วไปจะต้องระมัดระวัง ร่วมมือ รวมทั้งในเรื่องของการเดินเรือ การทำประมง การท่องเที่ยวชายฝั่ง การออกเรือ จะต้องใช้ความระมัดระวัง ต้องมีการติดตามข่าวสาร การแจ้งเตือน จากทางราชการที่รับผิดชอบ ที่เชื่อถือได้ ก็อย่าไปหลงเชื่อการส่งต่อข้อความ ส่งต่อกัน ที่ไม่รู้แหล่งที่มา จนเกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง ต้องมีสติ มีหลักคิดที่ถูกต้อง ตรวจสอบความถูกต้องทุกครั้ง ก่อนที่จะส่งต่อไปคนอื่น

ทั้งนี้ รัฐบาลก็ให้ความสำคัญ และห่วงใยประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งมีความเดือดร้อนแตกต่างกันออกไป หลายพื้นที่ยังคงเผชิญกับภัยธรรมชาติ ทุกรูปแบบ ซึ่งในปัจจุบันนั้นจะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น รับฟัง แล้วก็แจ้งเตือน ป้องกัน ช่วยเหลือ เยียวยา ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งรัฐบาลได้มีการบูรณาการไว้ล่วงหน้าแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ