สาธารรสุข ส่งทีมลงพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดหลังพบผู้ป่วยสงสัยเป็นโรคแอนแทรกซ์

ข่าวทั่วไป Monday November 27, 2017 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากกรณีมีรายงานข่าวพบผู้ป่วยด้วยโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ในพื้นที่จังหวัดตากนั้น กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและได้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เข้าสอบสวนการเกิดโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ พบว่าชาวบ้านได้นำแพะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และได้ชำแหละแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านเพื่อปรุงอาหาร หลังจากนั้นเริ่มมีตุ่มเนื้อสีแดงขึ้นที่บริเวณผิวหนัง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นอาจป่วยด้วยโรคแอนแทรกซ์

สำหรับโรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เช่น โค แพะ หรือแกะ โดยสัตว์ติดจากการเล็มหญ้าที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) เข้าไป เชื้อโรคนี้จะทำให้สัตว์ป่วยและตายอย่างรวดเร็ว โรคแอนแทรกซ์สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนจากการสัมผัสทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือติดต่อจากการหายใจ หรือผ่านการกินเนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อ ในประเทศไทย พบการติดทางผิวหนังโดยการสัมผัสสัตว์ป่วย และผลิตภัณฑ์สัตว์ และติดจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยแล้วไม่ได้ปรุงให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึง

โดยผู้ป่วยจะมีอาการตามลักษณะการติดต่อ 1) การติดเชื้อที่ผิวหนัง อาการที่พบได้แก่ ผิวหนังที่ติดเชื้อมีลักษณะเป็นผื่นนูน คัน แต่ไม่เจ็บ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นตุ่มพุพองแล้วแตกเป็นแผลแดงนูน ซึ่งต่อมาเกิดเป็นสะเก็ดสีดำ (Eschar) และเกิดเป็นแผลเนื้อเน่าตายได้ 2) ระบบทางเดินอาหาร จะมีไข้ ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ และ 3) ระบบทางเดินหายใจ จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หายใจลำบาก ซึ่งหากเข้ารับการรักษาไม่ทัน หรือไม่ถูกต้อง จะทำให้เสียชีวิตได้

วิธีการป้องกัน คือ 1) หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที 2) หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือชำแหละซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรค หากจำเป็นต้องสัมผัสให้สวมถุงมือยางและหน้ากากอนามัยทุกครั้ง 3) หลีกเลี่ยงนำสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยตายมากิน แจกจ่าย ขาย หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค และ 4) เกษตรกรหรือผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค ควรนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค ทั้งนี้ หากเริ่มมีอาการที่กล่าวไปข้างต้น ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ