องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปิด 10 ประเด็นคอร์รัปชันปี 60 ที่คนไทยเฝ้าจับตามอง

ข่าวทั่วไป Wednesday December 27, 2017 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เฟซบุ๊กองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดอันดับ 10 ประเด็นคอร์รัปชันในสังคมไทย และเปิดพื้นที่ให้พลังสังคมได้ร่วมแชร์ ความคิดเห็นและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในประเด็นต่าง ๆ จากแฟนเพจและผู้สนใจเพื่อนำเสนอรัฐบาล ในการร่วมแก้ไขปัญหาต่อไป

สำหรับผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ในช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก และไลน์แอด ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในช่วง 28 ธันวาคม 60 - 15 มกราคม 61 นี้

โดยทั้ง 10 ประเด็นคอร์รัปชันดังกล่าว สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ประเด็นร้อนในสังคม ประเด็นที่เกี่ยวกับความล่าช้า ประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และประเด็นที่รอการแก้ไขระยะยาว ประกอบด้วย

1.การทุจริตที่เกี่ยวกับคนใกล้ชิดรัฐบาล ได้แก่ การแสดงบัญชีทรัพย์สินของรัฐมนตรีตามกฎหมาย ป.ป.ช. (กรณีแหวนและนาฬิกาหรู) การซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วรถยนต์แบบมือถือ การเหมาเที่ยวบินไปประชุมที่ฮาวาย การอนุมัติให้เอกชนใช้ป่าชุมชนไปสร้างโรงงานและอีกหลายเหตุการณ์ที่ตกเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา แต่การชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องหลายกรณียังขาดความชัดเจน ตรงไปตรงมาและไม่ทันท่วงที จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์หาความจริงต่อไป

2.ส่วยภูเก็ต ส่วยและสินบนยังเป็นปัญหารุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ กล่าวกันว่าเราสามารถเจอคอร์รัปชันทุกรูปแบบที่มีในประเทศไทยได้ที่จังหวัดนี้ ดังนั้นหากรัฐบาลทุ่มเทขจัดปัญหาคอร์รัปชันที่ภูเก็ตให้สำเร็จได้ก็สามารถนำไปมาตรการเหล่านั้นไปปราบคอร์รัปชันในทุกจังหวัดได้เช่นกัน

3.คดีเงินทอนวัด เงียบและไม่คืบหน้า เป็นพฤติกรรมคอร์รัปชันที่สั่นคลอนความรู้สึกของคนไทย เพราะมีอัตราสินบนแต่ละครั้งมากถึงร้อยละ 85 อีกทั้งมีผู้เกี่ยวข้องที่เป็นพระชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการสำนักพระพุทธศาสนาจำนวนมาก แต่ขณะนี้ดูเหมือนไม่มีความคืบหน้าทางคดี ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลพฤติกรรมการทุจริตอย่างชัดเจน ทำให้สังคมเกรงว่าเรื่องจะเงียบหายไปในที่สุด

4.คดีสินบนโรลล์รอยส์ การทุจริตข้ามชาติที่เกี่ยวโยงกับรัฐวิสาหกิจชั้นนำ อย่างการบินไทย ปตท. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แน่นอนว่าคดีอย่างนี้ต้องมีนักการเมืองใหญ่ระดับชาติเป็นผู้บงการ แม้ว่าบริษัทโรลส์ รอยส์ผู้จ่ายสินบนจะถูกทางการอังกฤษสอบสวนดำเนินคดีมากว่า 4 ปี และเรื่องเพิ่งมาถูกเปิดเผยในประเทศไทยได้ประมาณปีเศษ ถึงวันนี้เรายังไม่เห็นความคืบหน้าจาก ป.ป.ช., อัยการ และ ป.ป.ง. ว่าคดีไปถึงไหน ทำไมจึงยังไม่ได้รับข้อมูลจากต่างประเทศ สรุปว่าจะเอาคนโกงมาลงโทษได้หรือไม่

5.คดีทุจริตสวนปาล์มน้ำมันของ ปตท.ที่ประเทศอินโดนีเซีย จากการขาดทุนที่ประมาณว่ามากกว่าสองหมื่นล้านบาทจากการนำเงินไปลงทุนในโครงการสวนปาล์มที่อินโดนีเซียของ ปตท. เชื่อว่าจะมีผู้เกี่ยวข้องที่เป็นนักการเมืองระดับชาติผู้กุมอำนาจเบื้องหลังรัฐวิสาหกิจแห่งนี้อย่างยาวนานร่วมกับอดีตผู้บริหารระดับสูง ถึงวันนี้นอกจากจะยังไม่มีการระบุตัวคนโกงหรือคดีไปถึงไหน แต่สื่อมวลชนที่พยายามเกาะติดและเปิดโปงเบื้องหลังกำลังโดนคุกคามจากการสืบเสาะหาข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ

6.การปฏิรูปตำรวจยังอึมครึม ตำรวจเป็นหน่วยราชการอันดับต้นๆ ที่ถูกระบุว่ามีการคอร์รัปชันมาก ทำให้ความยุติธรรมในสังคมถูกบิดเบือน ดังนั้นประชาชนจึงคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตำรวจ แต่นอกจากข่าวตามสื่อมวลชนแล้ว สังคมกลับไม่เคยได้รับรู้แนวทางการปฏิรูปตำรวจ หรือความคืบหน้าใดๆอย่างเป็นทางการเลย

7.อภิสิทธิ์ชนกับการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม ข่าวการหลบหนีหรือไม่ถูกนำตัวขึ้นศาลดำเนินคดีของนักการเมืองและคนโกงที่ร่ำรวยหรือมีอิทธิพล เพราะสามารถติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือบางรายถ้าต้องติดคุกก็สามารถซื้อหาอภิสิทธิ์ได้ เช่น การได้ไปอยู่ในสถานพยาบาล การได้เลื่อนชั้นนักโทษ ลดโทษ พักโทษและได้รับอภัยโทษเร็วขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องจับตาและหาทางแก้ไข เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า คนโกงต้องได้รับการลงโทษ

8.กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ เนื่องจาก ป.ป.ช.เป็นองค์กรหลักในการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ความมีประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการใช้อำนาจยังเป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมตลอดมา โดยในการแก้ไขกฎหมายครั้งล่าสุดนี้ก็ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับบทบาทอำนาจและวิธีปฏิบัติงานที่ลดความเข้มข้นลงหลายประเด็น รวมทั้งการแก้ไขบทเฉพาะกาลเพื่อต่ออายุการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

9.รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 มาตรานี้เป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ที่กำหนดให้รัฐต้องให้การสนับสนุนประชาชนในการรวมตัวกันต่อต้านคอร์รัปชันโดยได้รับการปกป้องจากรัฐ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลมอบหมายให้ ป.ป.ท. ไปดำเนินการร่างกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง แต่เมื่อร่างเสร็จแล้วกลับไม่ใช้ หากแต่ให้นำหลักการทำนองเดียวกันไปเขียนเพิ่มเติมไว้ในกฎหมาย ป.ป.ช. จำนวน 4 มาตรา และเขียนเพิ่มเติมในกฎหมาย ป.ป.ท. อีก 8 มาตรา ซึ่งวิธีการนี้นอกจากจะไม่เข้มข้นครอบคลุมเมื่อเทียบกับการมีกฎหมายเฉพาะแล้ว ยังอาจเป็นวิธีการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 278 ได้

10.กฎหมายปราบโกงที่หายไป อนาคตที่ไม่ชัดเจนของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ (พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ 2540 เดิม) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งๆ ที่กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเอาชนะคอร์รัปชันที่ได้รับการเห็นชอบจาก สปช.และ สปท. รวมทั้งอยู่ในแผนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่าเรื่องไปถึงไหน รัฐบาลจะสนับสนุนจริงจังหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ