ก.เกษตรฯ คาด 47 จ.มีโอกาสเกิดภาวะแห้งแล้ง เตรียม 4 มาตรการ 18 โครงการลดความเสี่ยง ใช้งบฯ กว่า 1.2 หมื่นลบ.

ข่าวทั่วไป Wednesday February 14, 2018 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีรพันธ์ คอทอง รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ อยู่ในเกณฑ์ดี และมีปริมาณมากกว่าปี 59 พบว่า พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภาวะแห้งแล้ง มี 47 จังหวัด 3.82 ล้านไร่ (พื้นที่เสี่ยงสูง 0.23 ล้านไร่ ปานกลาง 2.59 ล้านไร่) ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน (ข้อมูล 18 ธ.ค. 60) และในปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ประกอบดัวย 4 มาตรการ 18 โครงการ งบประมาณ 11,730.21 ล้านบาท สรุปผลการดำเนินงานดังนี้

มาตรการที่ 1 ส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยง โดยติดตามสถานการณ์น้ำ ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกพืช ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งตามช่วงเวลา พร้อมแจ้งข่าวสารพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งผ่านทางเว็บไซด์กรมพัฒนาที่ดิน และปรับปรุงแผนที่แล้งซ้ำซากในพื้นที่ภาคตะวันออกแล้วเสร็จ 42%

มาตรการที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ด้วยโครงการปลูกพืชหลากหลาย เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 38,629 ราย 326,711 ไร่ อยู่ระหว่างตรวจแปลงเกษตรกร, โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 15,096 ราย พื้นที่ดำเนินการ 175,631.10 ไร่ อยู่ระหว่างไถเตรียมดิน 40,378 ไร่ ส่วนที่เพิ่มเติมอย่ะหว่างรับสมัครเกษตรกร, โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ .รับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ ธ.ค. 60 – ก.พ. 61 ยื่นสมัครแล้ว 20 จังหวัด 731 ราย 5,770 ไร่ อยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว 360 ราย 3,176 ไร่ 3 งาน(ข้าวโพดหมัก 2,674 ไร่ 2 งาน เมล็ด 502 ไร่ 1 งาน) และ โครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 610,753 ไร่

มาตรการที่ 3 เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง ระบบกระจายน้ำ ดำเนินการแล้ว 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7 ของเป้าหมาย, สร้างแหล่งน้ำนอกเขตชป. แล้ว 13,970 บ่อ คิดเป็นร้อยละ 31 ของเป้าหมาย รวมทั้งก่อสร้าง ขุดลอก/ปรับปรุงแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว 13 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 27 ของเป้าหมาย

นอกจากนี้ รวมถึงมาตรการที่ 4 การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัย ประกอบด้วย 1. การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบระทรวงการคลังฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง 2. การประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 3. การจ้างแรงงานชลประทาน โดยกรมชลประทาน 4. การสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้สหกรณ์ที่ประสบสาธารณภัย โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์

ด้านนายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (13 ก.พ. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ รวมกันทั้งสิ้น 57,595 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 76% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2559 รวม 8,240 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 33,676 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 65%

ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 17,845 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 11,149 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ส่วนสถานการณ์น้ำท่าในลำน้ำสายหลักทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย

ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูฝนทั้งประเทศ (ณ 7 ก.พ. 61) มีการเพาะปลูกไปแล้ว 11.87 ล้านไร่ คิดเป็น 81% ของแผน (แผน 14.59 ล้านไร่) เฉพาะข้าว มีการเพาะปลูกไปแล้ว 9.96 ล้านไร่ คิดเป็น 85% ของแผน (แผน 11.69 ล้านไร่) ส่วนผลการเพาะปลูกฤดูแล้งเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้ว 7.33 ล้านไร่ คิดเป็น 94% ของแผน (แผน 7.76 ล้านไร่) เฉพาะข้าว มีการเพาะปลูกไปแล้ว 6.69 ล้านไร่ คิดเป็น 95% ของแผน (แผน 7.06 ล้านไร่) โดยในเขตชลประทาน มีการปลูกข้าวเกินแผนไป 0.38 ล้านไร่ ซึ่งคาดว่าการเก็บเกี่ยวจะเริ่มเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม 1.48 ล้านไร่ เมษายน 2.52 ล้านไร่ และพฤษภาคม 5.96 ล้านไร่ โดยเมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์การเพาะปลูกข้าว ปี 2560/61 และ ปี 2559/60 (ทั้งประเทศ) ณ ช่วงเวลาเดียวกัน มากกว่า 2.01 ล้านไร่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มากกว่า 0.95 ล้านไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ