"ศรีสุวรรณ"คาดศาลฯตัดสินกรณีฟ้องคดีกทม.-รฟม. ซึ่งเกี่ยวพันโครงการ"แอชตัน อโศก"ของ ANAN ภายในปีนี้

ข่าวทั่วไป Wednesday March 21, 2018 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการฟ้องคดีกรุงเทพมหานคร (กทม.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งเกี่ยวพันกับการดำเนินโครงการแอชตัน อโศก ของบมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) นั้น ขณะนี้คู่กรณีทั้งสองฝ่าย และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ส่งเอกสารครบถ้วนแล้ว รอกำหนดนัดหมายของศาลฯในการพิจารณาคดีครั้งแรกก่อนจะมีคำพิพากาษา ซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในปีนี้

อย่างไรก็ตามหากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามาแล้ว ก็ยังต้องรอว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะพอใจหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากไม่พอใจก็อาจจะมียื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ต่อไป

"ตอนนี้การส่งสำนวนคดีระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี คือ กทม.และรฟม. รวมถึงผู้ร้องสอดคืออนันดาฯ ส่งเอกสารครบถ้วน รอเพียงศาลฯนัดหมายคู่กรณีในการพิจารณาคดีครั้งแรกแล้วมีคำพิพากาษา ซึ่งคาดว่าคงเป็นภายในปีนี้มีคำพิพากษา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ขึ้นกับคู่กรณีว่าพอใจหรือไม่พอใจก็อาจจะอุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุดได้ต่อไป"นายศรีสุวรรณ กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากผู้ประกอบการโครงการแอชตัน อโศก ดำเนินการก่อสร้างตึกสูงบริเวณสี่แยกอโศก แต่ปรากฎว่าชาวบ้านละแวกข้างเคียงเห็นว่าพื้นที่ตรงนั้นไม่น่าจะก่อสร้างอาคารสูงได้ เพราะเป็นพื้นที่ 2 แปลงติดต่อกันและมีถนนสาธารณะคั่นกลาง แต่ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวกลับกลายเป็นพื้นที่เดียวกัน ไม่มีถนนคั่นกลาง ประกอบกับที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ยื่นแจ้งประกอบการก่อสร้าง เริ่มแรกเป็นอาคาร 7 ชั้น ซึ่งไม่สูงมาก ก่อนจะมาทราบภายหลังว่ามีการขอก่อสร้างเป็นตึกสูงหลายสิบชั้น ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง

นอกจากนี้ตามข้อเท็จจริงที่ดินบริเวณดังกล่าว จะไม่สามารถทำทางเข้า-ออกทางถนนอโศกมนตรีได้ เพราะเส้นทางออกมีที่ดินของสยามสมาคมฯ และรฟม. กั้นอยู่ แต่ปรากฎว่าผู้ประกอบการได้ไปเจรจากับรฟม.เพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออก กรณีดังกล่าวทำให้ชาวบ้านมาปรึกษาตนว่าจะทำได้หรือไม่ เมื่อเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความผิดปกติ เลยนำความไปฟ้องศาลปกครอง ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการต่อสู้คดี และยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาออกมา

สำหรับประเด็นในการต่อสู้คดีมี 3 หลักด้วยกัน ได้แก่ 1.เรื่องถนนสาธารณะคั่นกลางระหว่างแปลงที่ดิน 2 แปลงที่อาคารนี้ตั้งอยู่ 2.การรับฟังความเห็นของประชาชนไม่ทั่วถึง และ 3. เรื่องถนนเข้า-ออกโครงการจากตัวโครงการมาออกทางถนนอโศกมนตรี โดยที่ดินของรฟม.ที่ได้เวนคืนจากประชาชน จะนำเอาไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เอาไปเพื่อของธุรกิจเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นเฉพาะ โดยประเด็นที่ 3 น่าจะเป็นประเด็นหลักสำคัญที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง ทำให้ตนได้ไปร้องเรียงยังรัฐสภา ,สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และอีกหลายหน่วยงาน

"ผมคิดว่ากทม.ไม่กล้าเสี่ยง (อนุญาตให้ผู้ประกอบการเปิดใช้อาคาร) เพราะจะเข้าข่ายการละเลยการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามกระบวนกฎหมายอาญาและทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายของป.ป.ช. กทม.ไม่น่าเสี่ยง ทางที่ดีอนันดาฯควรรอคำพิพากษาของศาลกปครองที่ฟ้องคดีอยู่ว่าถึงที่สุดแล้วศาลฯจะมีคำพิพากษาออกมาทางใด จึงเป็นทางออกที่น่าจะชัดเจนมากกว่า"นายศรีสุวรรณ กล่าว

หนังสือพิมพ์เช้านี้รายงานว่า ขณะนี้วงการอสังหาริมทรัพย์กำลังจับตามองกรณีคอนโดมิเนียม "แอชตัน อโศก" ของ ANAN ซึ่งเปิดขายเมื่อปี 57 และก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี 60 เนื่องจากผู้ซื้อห้องชุดโครงการนี้ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ เพราะติดขั้นตอนการขอเอกสาร "อ.6" ซึ่งเป็นเอกสารตรวจสอบการก่อสร้างและ เปิดใช้อาคารจากกทม. ขณะที่โครงการดังกล่าวมีกำหนดส่งมอบให้กับลูกค้าตามหน้าสัญญาภายในวันที่ 26 มี.ค.61 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ทัน ทางผู้บริหาร ANAN จึงได้ทำคลิปสื่อสารกับลูกค้าผู้จองซื้อห้องชุด 100% ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก โดยได้กล่าวขอโทษที่ไม่สามารถโอนให้ตามกำหนดเดิมได้ ขณะที่สัญญาเปิดช่องให้ยืดเวลาการส่งมอบห้องชุดออกไปภายใน 1 ปีได้ หากเกิดเหตุสุดวิสัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ