สธ.เผยผลศึกษาวิจัย"คลินิกหมอครอบครัว"มีความคุ้มทุนด้านเศรษฐศาสตร์ ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องการ

ข่าวทั่วไป Sunday June 10, 2018 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเป้าหมายจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Service) จำนวน 6,500 ทีม เริ่มตั้งแต่ปี 2559-2569 โดยในปี 2561 จะเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 คน ปฏิบัติงานอย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ พยาบาลวิชาชีพ 2 คน นักวิชาการสาธารณสุข/ เจ้าพนักงานสาธารณสุข 2 คน เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ รับผิดชอบดูแลประชาชนประมาณ 10,000 คน จัดบริการด้วยหลักเวชศาสตร์ครอบครัว เป็นองค์รวม ต่อเนื่อง มีระบบให้คำปรึกษา ให้ประชาชนเข้าถึงสะดวก ระบบดูแลส่งต่อเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลแม่ข่าย รวมทั้งการส่งเสริม ป้องกัน ควบคุมโรคในชุมชน เพื่อให้คลินิกหมอครอบครัว ในช่วง 5 ปีแรกสามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบให้พื้นที่อื่นได้เรียนรู้และพัฒนา ขณะนี้ มีคลินิกหมอครอบครัวที่ผ่านเกณฑ์แล้ว 783 ทีมจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 845 ทีม

นพ.มรุต กล่าวต่อว่า จากการศึกษาวิจัยได้ประเมินผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต พบว่านโยบายนี้มีความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ โดยในระยะ 10 ปี อาจจะต้องใช้เงินลงทุน 50,000 ล้านบาท แต่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ได้มีมูลค่า 227,570 ล้านบาท หรือกล่าวได้ว่าทุก 1 บาทที่ลงทุนสามารถให้ค่าตอบแทน 4.55 บาท

โดยความสำเร็จนโยบายนี้ ต้องอยู่บนเงื่อนไขสำคัญดังนี้ 1.ประชาชนต้องมารับการดูแลที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้อย่างน้อยร้อยละ 60 ของการเข้าถึงบริการทั้งหมด 2.ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อย่างน้อย 40% และความดันโลหิตสูง อย่างน้อย 50% สามารถควบคุมโรคได้ดี เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนและการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนในอนาคต 3.เพิ่มการเข้าถึงการคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงจากร้อยละ 56 ในปัจจุบันเป็น 90% หรือ ค้นหาผู้ป่วยที่วินิจฉัยโรคได้เพิ่มขึ้น 2.87 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า และ 4. เพิ่มคุณภาพของสถานพยาบาลปฐมภูมิที่ทำให้ประชาชนมีความพอใจและมั่นใจในบริการจาก 10% เป็น 100% ของคนที่มารับบริการทั้งหมด

นอกจากนี้ ได้ศึกษาการรับรู้ของประชาชนต่อความสำคัญของบริการคลินิกหมอครอบครัว ด้วยแบบสอบถามออนไลน์ ในกลุ่มตัวอย่าง 423 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 89.6% รู้จักคลินิกหมอครอบครัว และ 92.4% มีความต้องการคลินิกหมอครอบครัว กลุ่มตัวอย่างรับรู้ความสำคัญของบริการคลินิกหมอครอบครัวในภาพรวมในระดับมากที่สุด และรับรู้ความสำคัญของบริการคลินิกหมอครอบครัวใน 3 ลำดับแรก ดังนี้ 1.การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ไม่ให้เจ็บป่วย 2.การส่งเสริมให้บุคคลมีความรู้และดูแลตนเอง การส่งเสริมให้บุคคลสามารถดูแลครอบครัว และ 3.การติดตามเยี่ยมบ้าน/ ไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

"กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และปรับกลยุทธ์เพื่อสรรหาแพทย์จากกลุ่มอื่น ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่เพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นโยบายคลินิกหมอครอบครัวสำเร็จ รวมทั้งการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนและผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาคลินิกหมอครอบครัว" นพ.มรุตกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ